กกต. หวด “เพื่อไทย” เปิดระเบียบชัด “ทักษิณ” ช่วยหาเสียงไม่ได้ หลังส่งเสียงดังเลือกตั้ง นายก อบจ.!!

4368

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ฟันฉับ ทักษิณ ช่วยพรรคเพื่อไทย หาเสียงไม่ได้ กางระเบียบ ชี้ชัด ผู้ช่วยหาเสียงต้องเป็นคนมีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น

จากกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กและอัดคลิปขอเสียงสนับสนุนให้เลือก นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร หรือ ส.ว.ก๊อง ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ของพรรคเพื่อไทย จนเป็นประเด็นทางข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยบางส่วนไม่เห็นด้วยและได้แสดงความเห็นคัดค้านเพราะเกรงว่าจะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา

ต่อมาทางด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตนเองพร้อมกับคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 3 คน ประกอบด้วย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรค นายไชยา พรหมา รองหัวหน้าพรรค และ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการบริหารพรรค ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค ว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายตามมาภายหลัง ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงขอคัดค้านต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยไปแล้ว แม้จะมีการทำหนังสือแสดงความจำนงคัดค้านแล้ว ก็ยังเป็นกังวลจะมีผู้ยื่นเรื่องร้องยุบพรรคเพื่อไทยในอนาคต จึงทำให้ น.อ.อนุดิษฐ์ และนายชวลิต ยื่นหนังสือขอลาออกจากกรรมการบริหารพรรคแล้ว ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบพรรคเพื่อไทย กรณีนายทักษิณ ชินวัตร โพสต์เชียร์ให้เลือกผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ซึ่งนายทักษิณ เป็นนักโทษตามคำพิพากษาของศาล แต่หลบหนีการลงโทษไปอยู่ต่างประเทศ จึงมิได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ที่จะต้องนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครตามกฎหมายแต่อย่างใด และถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตาม ม.39 และเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติที่จะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม ม.49 แห่งพรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 อีกทั้งตาม ม.65 ของกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครอื่น หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการสัญญาว่าจะให้ประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่บุคคล หรือชุมชน ฯลฯ ซึ่งอาจมีความผิดตาม ม.126 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปีด้วย

ล่าสุดทางด้าน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งถึงความคืบหน้าการรับรองผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ที่กำหนดให้ กกต.รับรองผลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.63 หากการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตไม่มีเรื่องร้องเรียน

โดยมีการเปิดเผยว่า จนถึงช่วงสิ้นปีได้มีข้อร้องเรียนจากหลายจังหวัด ทั้งที่สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัด และ กกต.ส่วนกลาง เป็นจำนวนมาก และยังมีข้อหารือจาก กกต.ประจำจังหวัดมายัง กกต.ส่วนกลาง ถึงพฤติกรรมที่เข้าข่ายการกระทำผิดระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ของผู้สมัครนายกหรือสมาชิก อบจ.อีกส่วนหนึ่ง จึงคาดว่าทาง กกต.จะสามารถทยอยประกาศรับรองผลแต่ละจังหวัดได้ช่วงต้นเดือน ม.ค.64 เป็นต้นไป

สำหรับ ข้อหารือจาก กกต.ประจำจังหวัดที่น่าสนใจ เป็นข้อหารือจากผู้อำนวยการ กกต.ประจำ จ.เชียงราย หนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต (ชร) 0003/510 เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.63 ที่ได้ขอหารือกรณี น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ของพรรคเพื่อไทย ที่ได้ทำสำเนาจดหมายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เขียนด้วยลายมือมีข้อความสนับสนุน น.ส.วิสาระดีมาจัดทำแผ่นพับใบปลิวใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งว่าสามารถกระทำได้หรือไม่

ต่อมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0019/12345 ลงวันที่ 17 ธ.ค.63 ระบุว่า กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าการนำจดหมายหรือเอกสารของบุคคลอื่นมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการแสวงหาคะแนนนิยมจากประชาชนหรือสมาชิกจากชุมชนเพื่อให้ลงคะแนนให้แก่ตนเอง ถือว่าบุคคลเป็นเจ้าของจดหมายหรือเอกสารดังกล่าวเป็นผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หากผู้สมัครรับเลือกตั้งประสงค์จะนำจดหมายหรือเอกสารของบุคคลดังกล่าวมาหาเสียงเลือกตั้ง จะต้องแจ้งรายชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ช่วยหาเสียงของตนตามข้อ 15 ประกอบข้อ 4 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563

สำหรับข้อ 15 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียง และลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2563 ระบุว่า ผู้สมัครที่ประสงค์จะมีผู้ช่วยหาเสียงต้องแจ้งรายละเอียดให้ ผอ.กกต.ประจำจังหวัดทราบก่อนวันดำเนินการ ขณะที่ข้อ 4 ได้นิยามคำว่า “ผู้ช่วยหาเสียง” ไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง และต้องเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่ และค่าตอบแทนต่อ กกต.ประจำจังหวัด ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ในข้อ 16 บัญญัติว่า ในกรณีบุคคลใดซึ่งมิใช่ผู้ช่วยหาเสียงของผู้สมัครตามหมวดนี้ เข้าช่วยเหลือในการหาเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครแจ้งเหตุการณ์นั้นให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว

ต่อมา เมื่อนำเลขประจำตัวประชาชนนายทักษิณตรวจสอบในทะเบียนของ กกต. พบว่านายทักษิณไม่ถือเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งเมื่อตรวจสอบจาก กกต.เชียงราย ก็ไม่พบว่าผู้สมัครได้แจ้งว่านายทักษิณเป็นผู้ช่วยหาเสียงแต่อย่างใด”

หนังสือขอหารือจาก กกต.เชียงรายไปยัง กกต. อาจถูกนำไปเทียบเคียงกับกรณี จ.เชียงใหม่ เนื่องจากนายทักษิณ ได้เขียนจดหมายด้วยลายมือตัวเองโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวเพื่อสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.หาเสียงใน 2 จังหวัด คือ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่ กรณี จ.เชียงใหม่ มีทั้งการเขียนจดหมายด้วยลายมือแล้วโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว รวมไปถึงเฟซบุ๊กของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว และอดีตนายกฯ ด้วย รวมทั้งก่อนวันเลือกตั้งนายก อบจ.ไม่กี่วัน นายทักษิณยังอัดคลิปวิดีโอความยาว 3.17 นาที เพื่อช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวอยู่ในความสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นมุมมองทางกฎหมายว่า สุดท้ายแล้วการกระทำลักษณะดังกล่าว ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 อาทิ มาตรา 28 ที่ระบุว่า

“ห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือกระทําการใดอันทําให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทําการอันเป็นการควบคุม ครอบงํา หรือชี้นํากิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทําให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม”

รวมไปถึงบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือไม่ เพราะในการหาเสียง บนเวทีปราศรัยหลายเวทีที่ จ.เชียงใหม่ มีนำจดหมายของนายทักษิณไปอ่านบนเวที โดยมีผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ของพรรคเพื่อไทย และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ร่วมปราศรัยและยืนฟังอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า ในช่วงการหาเสียงโค้งสุดท้ายของนายก อบจ. หลังจากนายทักษิณโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กและอัดคลิปขอเสียงสนับสนุนจากชาวเชียงใหม่ให้เลือกผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคเพื่อไทย ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะในวงการประชุมกรรมการบริหารพรรค ที่เป็นห่วงประเด็นทางข้อกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบมาถึงสมาชิกพรรค และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะการนำเนื้อหาทางจดหมายมาผลิตซ้ำ นำไปอ่านขยายผล เพื่อหวังคะแนนเสียงทางการเมือง แต่ไม่อาจต้านทานความคิดเห็นจากแกนนำคนในพรรคได้ ส่งผลให้กรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 4 ราย ได้ทำหนังสือแสดงความจำนงที่ขอคัดค้านส่งไปยัง กกต. และได้ยื่นหนังสือลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยแล้ว