จากที่พลโท สรภฎ นิรันดร บุตรชายคณะราษฎร 2475 นั่นคือ พันตรี เสวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎร 2475 สายทหารบก แถลงบิดาได้กระทำการมิบังควรต่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบนั้น
ทั้งนี้ พลโท สรภฎ ได้ออกมาสำนึกผิดแทนบิดา นั่นคือ พันตรี เสหวก นิรันดร ซึ่งมีเนื้อหาบางช่วงระบุว่า ก่อนเสียชีวิตคุณพ่อได้มีความสำนึกผิด ช่วงนั้นท่านยังมีชีวิตก็ได้สำนึกผิดซึ่งเหตุการณ์มิบังควรนั้นได้เกิดขึ้น ตอนคุณพ่อเป็นกรรมการสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เรื่องเกี่ยวกับที่ดินของตระกูล นิรันดร ที่มีจำนวน 80 แปลง มีอยู่ที่ถนนสาทร 3ไร่กว่า บางแปลงอยู่ตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดา ซึ่งมีจำนวน 3ไร่กว่า และอีกแปลงเป็นที่ดินติดกับพระราชวังไกลกังวลโดยติดกับฝั่งทะเล
“คุณพ่อมีลูกทั้งหมด 4คน อีก3คนนั้นตอนนี้นั่งรถเข็นหมดแล้ว เหลือเพียงตนที่เดินได้ ส่วนจะส่งคืนที่ดินนี้หรือไม่นั้น ต้องมีการพูดคุยกับลูกหลานด้วย เพราะของที่จะส่งคืนนั้นต้องมีความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ว่าไม่อยากคืน เพราะแม้แต่ชีวิตของตนก็สละให้ได้”
อย่างไรก็ตามพลโท สรภฎ ได้ก้มลงกราบพร้อมกล่าวคำขอพระราชทานอภัยโทษต่อหน้า พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวง3พระองค์ด้วย คือ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 นอกจากนี้ช่วงระหว่างการแถลงนั้น พลโท สรภฎ ได้มีน้ำเสียงสะอื้น
“ข้าพเจ้า พล.ท.สรภฎ นิรันดร กราบขออภัยแทนบิดาคือ พ.ต.เสวก นิรันดร คณะราษฎร 2475 ซึ่งไม่มีโอกาสแล้ว ผมขอทำหน้าที่แทน พระราชทานบรมราชานุญาตต่อล้นเกล้าทั้ง 3 พระองค์ ขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งนี้ เพื่อวิญญาณของของคุณพ่อผม ขุนนิรันดรชัย จะได้ไปสู่สุขคติ และความเป็นสิริมงคลจะได้นำมาสู่ครอบครัวตระกูลนิรันดร” พล.ท.สรภฎ ระบุ
ต่อมาสื่อมวลชนมีการถามถึงการฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับมรดกของครอบครัว เมื่อปี 2561 ต่อศาลแพ่ง มีผลเป็นอย่างไรนั้น ทางด้าน พล.ท.สรภฎ กล่าวว่า ภายหลังได้ถอนฟ้องแล้วในปี 2562 เนื่องจากพูดคุยเข้าใจกัน เป็นพี่น้องกันก็ถอนฟ้องหมด
สำหรับคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.62 ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัล กรุงเทพฯ ตระกูล “นิรันดร” โดยพล.ท.สรภฎ นิรันดร อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบกในขณะนั้น พร้อมด้วยนายธรรมเรศ นิรันดร, คุณพักตรพิมล นิรันดร และนางเยาวรัตน์ นิรันดร ร่วมแถลงเรียกร้องการแบ่งที่ดินมรดกของ “ขุนนิรันดรชัย” หรือ พันตรีเสวก นิรันดร ราชเลขาในรัชกาลที่ 8 ซึ่งมีที่ดินในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดกว่า 90 แปลง มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ พล.ท.สรภฎ กล่าวว่า ครอบครัวได้จัดการทรัพย์สินมรดกในลักษณะกงสี โดยมีนายธรรมนูญ นิรันดร ทายาทที่เกิดจากภรรยาหลวง เป็นผู้จัดการมรดก กระทั่งปี 2559 มีหลักฐานว่านายธรรมนูญได้นำที่ดินของกองมรดกจำนวน 187 ไร่ที่ ตลาดขวัญดอนเมืองไปขาย และไม่ได้แบ่งปันผลตอบแทนให้กับทายาท และปี 2560 นายธรรมนูญได้นำที่ดินกองมรดกที่บางลำพลู ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม ไปขายให้กับบุตรสาวและบุตรชายของตน
“ทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ 5 คนไม่รวมนายธรรมนูญ ประกอบด้วย นายธรรมเรศ นิรันดร, นางสุจิตรา วิริยวัฒน์, นายภูมิพงศ์ พัฒน์พงศ์พานิช, นางเยาวรัตน์ นิรันดร และตนเอง ต้องการออกจากระบบกงสี และนำมรดกที่ดินทั้งหมดนับหมื่นล้านแบ่งให้กับทายาทในสัดส่วนเท่าๆ กัน ก่อนที่จะขายที่ดินไปทั้งหมด แต่เบื้องต้นยังไม่ได้รับคำตอบ ทายาททั้ง 5 คน จึงได้ยื่นฟ้องนายธรรมนูญและพวก ในข้อหายักยอกทรัพย์มรดก และขอให้ มีการแบ่งที่ดินมรดกของตระกูลที่ยังเหลืออีกจำนวนมากตามสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณาขั้นตอนของศาลแพ่งและอาญา” พล.ท.สรภฎ กล่าว
ด้านนางเยาวรัตน์ นิรันดร ลูกสาวคนสุดท้องของนายธรรมนูญ กล่าวว่า เมื่อเดือนเมษายนปี 2561 ระหว่างที่ได้กลับจากเยี่ยมดูแลอาการ และทำอาหารให้พ่อรับประทาน และได้มีบุคคลเข้ามาขอถ่ายรูป ซึ่งตนไม่อนุญาต จนกระทั่งได้มีหมายแจ้งข้อกล่าวหามาจากสน.ดุสิต แจ้งมาว่า ตนได้ทำการบุกรุกเคหะสถาน ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านคุณพ่อ โดยมีฝ่ายคู่กรณีเป็นผู้แจ้งต่อมาภายหลังศาลได้สั่งไม่ฟ้อง
ก่อนหน้านี้ นายธรรมนูญ นิรันดร ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ 1 ไร่ให้“ขุนนิรันดรชัย”นั้น เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าขุนนิรันดรชัย ได้ลาออกจากราชเลขาธิการในพระบาทก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงบรรลุนิติภาวะ และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยด้วย ดังนั้นขุนนิรันดรชัยจึงได้เป็นข้าราชการในสำนักราชเลขานุการของ“คณะผู้สำเร็จราชการเท่านั้น” ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่าการได้ที่ดินมาในครั้งนั้นได้มาจากใครระหว่าง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 หรือได้จากคณะผู้สำเร็จราชการกันแน่
และการสัมภาษณ์ของนายธรรมนูญ ทำให้ทราบได้ว่า ขุนนิรันดรชัย ได้ซื้อที่ดินหน้าพระราชวังจิตรลดาในราคาต่ำกว่า 75 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับราคาหน้าพระราชวังเดียวกันที่“พันเอก หลวงพิบูลสงคราม”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยซื้อเอาไว้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2480 ในราคา 4,000 บาทต่อไร่
ขุนนิรันดรชัย ซื้อที่ดินบริเวณ“หน้าวัง” ในราคาถูกกว่าที่ซื้อพื้นที่เพิ่มเติม 62.5 เปอร์เซนต์ โดยจากราคาหน้าวังตารางวาละ 2.50 บาท (1,000 บาทต่อไร่) มาเป็นซื้อพื้นที่เพิ่มเติมตารางวาละ 4 บาท (1,600 บาทต่อไร่)
ในช่วงนั้นมีการนำที่ดินพระคลังข้างที่ออกมาจัดสรรให้สมาชิกคณะราษฎรผ่อนซื้อในราคาถูกๆ อ้างว่าเป็นที่ดินพระราชทาน ครั้นต่อมาปรากฏว่าผู้ซื้อแทบทุกคนไม่มีการผ่อนชำระ ก็จัดฎีกาขอพระราชทานยกหนี้ให้ แน่นอนว่าการกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยนี้ องค์ยุวกษัตริย์มิเคยทรงได้รับทราบ