เร่งชี้แจงด่วนที่สุด!?! ก.พาณิชย์สั่งทูตการค้าเร่งทำความเข้าใจผู้นำเข้าสินค้าอาหารทะเลไทย ยันคุณภาพสูงปลอดโควิด-19

1800

วิกฤตโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลกระทบวงกว้างทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ได้สั่งการทูตพาณิชย์ที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไทย เร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าว่าสินค้าทะเลไทยมีคุณภาพ มาตรฐานสูง ปลอดโควิด-19 หลังพบการติดเชื้อที่ตลาดกุ้งมหาชัย ป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก ทั้งนี้ปัจจุบันไทยส่งออกอาหารทะเลมูลค่า115,912.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% ขณะที่ภาคเอกชนเร่งทำคู่มือป้องกัน เรียกร้องสมาชิกเข้มงวด ยกระดับการป้องกันโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ รอบนี้กระทบหนักทั้งเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งชีวิตคนไทย ต้องเร่งช่วยกันทุกภาคส่วน รัฐบาลอย่าประมาทแม้แต่น้อย เพราะโควิดไม่กระจอก?

ผลพวงพิษ COVID-19 ระบาดรอบใหม่ที่ จ.สมุทรสาคร ติดเชื้อล่าสุด 820 คน ส่งผลตลาดสดมหาชัย ตลาดอาหารทะเลชื่อดังได้รับผลกระทบในพื้นที่ พ่อค้าแม่ค้า วอนนักท่องเที่ยวมาอุดหนุน เพราะมีการวางมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม แต่ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ย่อมส่งผลกระทบภาคส่งออกอาหารทะเล ที่เป็นหนึ่งในดาวรุ่งท่ามกลางการระบาดโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มาดูว่าภาครัฐและเอกชนเคลื่อนไหวอย่างไรในวิกฤตครั้งนี้

กระทรวงพาณิชย์ให้ทูตประจำประเทศลูกค้ารับหน้าชี้แจง

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP)  เปิดเผยว่า ได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศหรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว  โดยกรมฯได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า

ที่ผ่านมาการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย นอกจากนี้ กรมยังได้ผลิตวีดีโอเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการผลิตสินค้าทะเลและปศุสัตว์ จำนวน 10 ภาษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าอีกทางหนึ่งด้วย

นายสมเด็จ กล่าวว่า  เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดนายจุรินทร์ ยังได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตด้วย

ปัจจุบัน ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) ไทยมีการส่งออกอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มีมูลค่า 115,912.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 63,391.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.19% ส่วนกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ไม่รวมกุ้งกระป๋อง ส่งออกมูลค่า 27,347.09 ล้านบาท ลดลง 11.37%

ส.อ.ท.ขยับทำคู่มือเรียกร้องป้องกันโควิดเข้ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดสมุทรสาครส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ประชาชน และอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส.อ.ท.จึงเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับภาคอุตสาหกรรม จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากมาตรการล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร เฉพาะตลาดซื้อขายอาหารทะเล ที่มีการซื้อขายต่อวันประมาณ 400-500 ล้านบาท ต้องหยุดชะงักลงทันที หากรวมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและธุรกิจอื่นๆที่ต้องปิดการให้บริการ น่าจะเกิดความเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าว แต่ในส่วนของโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานต่างด้าว ก็ไม่ได้รับผลกระทบ

และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการใช้แพลทฟอร์ม “ไทยชนะ” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม สำหรับ Digital Tracking ภาคบังคับในการเข้าสู่สถานที่ต่างๆ และใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ที่เป็น Digital Tracking Application ภาคสมัครใจในการติดตามตัวบุคคลและผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส.อ.ท.จึงจัดทำคู่มือป้องกันการระบาดโควิด-19 สำหรับภาคอุตสาหกรรม แบ่งตามลักษณะของอุตสาหกรรม ดังนี้

  1. อุตสาหกรรม อาหาร วัตถุดิบเกษตร จักรกล และ อุตสาหกรรมทั่วไป
  2. อุตสาหกรรมยา สมุนไพร เครื่องมือแพทย์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ยาง
  3. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์
  4. อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ พลาสติก แก้วและกระจก เยื่อและกระดาษ อลูมิเนียม การพิมพ์
  5. อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซ พลังงานหมุนเวียน
  6. อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
  7. อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์
  8. อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและผู้รับเหมา เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกอบการวางแผนเตรียมการป้องกัน และส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในการลดการติดต่อของโรค ป้องกันไม่ให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มและสามารถ

นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูรองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการป้องกันการระบาดโควิด-19 ภายใต้ ส.อ.ท.ร่วมกับกรมควบคุมโรค จัดทำแนวปฏิบัติในการป้องกันโควิด-19 ในการทำงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยอิงหลักการของ The Occupational Safety and Health Administration (OSHA) และ International Labour Organization (ILO) ซึ่งมีมาตรการขั้นพื้นฐานในการป้องกันการติดเชื้อแบบดั้งเดิม และสุขศาสตร์อุตสาหกรรมจัดการผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างถูกต้อง

รวมทั้งมุ่งเน้นมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อโรค ได้แก่ มาตรการสาธารณสุข การส่งเสริมอนามัยส่วนบุคคล การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ การเว้นระยะห่างทางสังคม อาทิ การจัดการเชิงพื้นที่ การเหลื่อมเวลาทำงาน และการจัดระบบ Work From Home เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ สามารถนำแนวทางปฏิบัติพื้นฐานไปปรับใช้ได้ทันที

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธาน ส.อ.ท.จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจังหวัดสมุทรสาครมีโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 6,082 โรงงาน มีจำนวนสมาชิกในสมุทรสาคร 148 ราย เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สังกัดจังหวัด 50 ราย และมีจำนวนแรงงานต่างด้าว (ปี 63) ประมาณ 233,071 คน