ไบเดนยันสานต่อสงครามการค้า-รีดภาษีจีน?!? คาดออกกม.ห้ามบริษัทจีนจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐ

1660

โจ ไบเดนว่าที่ปธน.สหรัฐ ยืนยันจะยังไม่ยกเลิกมาตรการรีดภาษีสินค้าจีนในสมัยทรัมป์ แต่จะขอหารือพันธมิตรร่วมกันกดดันจีน และเพิ่มกฎหมายห้ามบริษัทจีนจดทะเบียนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ แสดงจุดยืนชัดสานต่อนโยบายต้านอิทธิพลจีน อย่างเข้มข้น ทั้งนี้จีนคงไม่สบายใจนัก หลังจากแสดงท่าทีคาดหวังการผ่อนคลายสงครามการค้ากับสหรัฐเมื่อไบเดนชนะเลือกตั้ง แต่กลายเป็นว่าการกีดกันการค้า-การตั้งกำแพงภาษี อาจขยายสงครามเทคโนโลยีหนักกว่าเดิม เพื่อขัดขวางการขยายอิทธิพลของจีนในทุกภูมิภาคของโลก

นายโจ ไบเดนว่าที่ปธน.สหรัฐฯกล่าวว่า เขาจะยังไม่ยกเลิกมาตรการทางภาษีที่ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์บังคับใช้กับจีนในการทำสงครามการค้าก่อนหน้านี้ และจะทบทวนข้อตกลงระหว่างสหรัฐและจีนที่มีอยู่โดยจะพัฒนายุทธศาสตร์ร่วมกับพันธมิตรของสหรัฐในยุโรปและเอเชีย

“ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดที่เราจะใช้กับจีนก็คือการที่เราจะหาทางดำเนินการร่วมกับพันธมิตรของเรา โดยผมมองว่านโยบายสำคัญที่สุดของผมในช่วงเริ่มต้นการรับตำแหน่งประธานาธิบดีคือ การทำให้เรากลับไปร่วมดำเนินการพร้อมกับพันธมิตรของเรา” นายไบเดนกล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อนายโทมัส ฟรีดแมนจากนสพ.นิวยอร์กไทมส์

ภายใต้ข้อตกลงการค้าเฟสแรกนั้น จีนได้ตกลงที่จะซื้อสินค้าและการบริการจากสหรัฐในวงเงินอย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2563-2564 นอกจากนี้ ข้อตกลงยังระบุว่า สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% จากสินค้าอุตสาหกรรมของจีนคิดเป็นมูลค่า 2.50 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าสหรัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลลาร์

นายไบเดนกล่าวว่า เขาจะยังไม่ยกเลิกข้อตกลงการค้าเฟสแรกในทันที พร้อมกับกล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดในการทำข้อตกลงกับจีนคือการดึงบรรดาชาติพันธมิตรของจีนให้เข้าร่วมกับสหรัฐ

นอกจากนี้ นายไบเดนกล่าวว่า เขาจะดำเนินนโยบายที่พุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมที่เป็นอันตรายของจีน ซึ่งรวมถึง การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาด การอุดหนุนบริษัทเอกชนอย่างผิดกฎหมาย และการบังคับให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทสหรัฐให้กับบริษัทจีน

Andrei Agapi ผู้อำนวยการฝ่ายกำหนดราคาประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า  ปัจจุบันจีนถือเป็นประเทศที่สำคัญมากในการนำเข้าผลิตผลทางการเกษตรจากสหรัฐฯ รวมถึง ข้าวสาลี ข้าวโพด และ ถั่วเหลือง

สัญญาการค้าได้เกิดขึ้นหลังจากที่จีนตกลง “ซื้อในปริมาณมาก” ทางผลผลิตการเกษตรและพลังงานกับสหรัฐฯ รวมถึงบริการ ซึ่งในส่วนเฟสหนึ่ง ข้อตกลงการค้านี้ขึ้นอยู่ระหว่างสองประเทศผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และมองว่า จีนถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการอุปโภค เนื่องจากจีนต้องการเติมสินค้าคงเหลือและเงินสำรอง ซึ่งเปิดรับผู้ค้าจากหลายประเทศ ไม่ใช่เพียงนสหรัฐฯเท่านั้น

ไบเดนสานต่อมรดกทรัมป์-สงครามการค้าไม่จบ

วันที่ 15 ม.ค.2563 ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีโดนัดล์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และนายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของผู้นำจีน ได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างจีนกับสหรัฐแล้ว ที่ทำเนียบขาว

ข้อตกลงเฟสแรกจำนวน 86 หน้า ที่ทรัมป์กับผู้แทนฯจีนลงนามร่วมกัน เป็นผลสืบเนื่องหลังจากที่ทั้งจีนและสหรัฐใช้เวลาหารือทางการค้ากันมานานเกือบ 2 ปี ซึ่งผลักดันให้มหาอำนาจทั้งสองชาติเข้าสู่สังเวียนสงครามการค้าในลักษณะตาต่อตาฟันต่อฟัน

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยวิเคราะห์ถ้าไบเดนชนะ-จีนเหนื่อยกว่า

ทรัมป์ ต้องการแยกเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือห่วงโซ่การผลิตออกจากจีน (Decoupling) กระตุ้นบริษัทสหรัฐผลิตสินค้าด้วยวัตถุดิบและกลไกอื่นๆนอกประเทศจีน คงภาษีนำเข้าจากจีน รวมถึงการจำกัดการลงทุนของบริษัทจีนในสหรัฐฯ เพื่อกดดันให้บริษัทจีนมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น สงครามการค้าจะดำเนินต่อไป และอาจขยายเป็นสงครามเทคโนโลยี ที่คนสหรัฐต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯเท่านั้น ขณะที่คนทั่วโลก ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ หรือจากจีน หรือต้องใช้ทั้งคู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศต่างๆ สูงขึ้น

ไบเดน ต้องการให้จีนเปลี่ยนท่าที เปิดตลาดให้สหรัฐฯขายของได้มากขึ้น ลดกฎระเบียบการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯในจีน และให้จีนดูแลทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่ได้เป็นท่าทีที่อ่อนโยนกับจีน เพราะต้องการกดดันให้จีนมีอิทธิพลต่อการค้าโลกลดลง และโอบล้อมจีนด้วยการสานต่อมาตรการ CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership: ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ในสมัยโอบามา และเปิดรับการค้าในภูมิภาคเอเชีย เรียกว่าเป็นการเบี่ยงเบนการค้า (trade diversion) ให้สหรัฐฯมีอิทธิพลทางการค้ากับเอเชียแทนที่จีน แต่อาจไม่ใช่การค้าเสรีมากเช่นในอดีต เพราะไบเดนยังคงเน้นการจ้างงานในสหรัฐฯอยู่

รายละเอียดที่เป็นรูปธรรมในข้อตกลงการค้าเฟสแรกนี้ ประกอบด้วย

-จีนให้คำมั่นซื้อสินค้า”หลากหลายชนิด” จากสหรัฐเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นสองแสนล้าน ภายในเวลา 2 ปี-จำนวนนี้แบ่งเป็น จีนซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐในปี 2020 ที่มูลค่า 77,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็น 123,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพื่อให้ครบมูลค่ารวม 2 แสนล้านตามข้อตกลง

-เมื่อนำมูลค่าการส่งออกของสหรัฐในปัจจุบัน รวมเข้ากับมูลค่าสินค้าและบริการที่จีนจะซื้อจากสหรัฐตามข้อตกเฟสแรก จะส่งผลให้สหรัฐมีมูลค่าการส่งออกไปยังจีนทะยานขึ้นเป็น 263,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 309,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2021

-สินค้าด้านอุตสาหกรรมจากสหรัฐ มูลค่า 32,900 ล้านดอลลาร์ ใน 2020 และเพิ่ม 44,800 ล้านดอลลาร์ใน 2021-สินค้าเกษตรสหรัฐ 12,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 และเพิ่มเป็น 19,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021-สินค้าพลังงานสหรัฐ 18,500 ล้านดอลลาร์ในปี2020 เพิ่มเป็น 33,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2021-สินค้าบริการ มูลค่า 12,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 เพิ่มเป็น 25,100 ล้านดอลลาร์ใน 2021-สินค้าภาคการผลิต อาทิ ผลิตภัณฑ์เหล็ก ตู้เย็น เครื่องบริภัณฑ์อุตสาหกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยา รถยนต์ เครื่องมือด้าน Optical instrument

-สินค้าเกษตร อาทิ เมล็ดพืชน้ำมัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด เนื้อสัตว์ ธัญพืช ฝ้าย และอาหารทะเล-สินค้าบริการ อาทิ บริการทางการเงิน ประกันภัย เทเลคอม ระบบคลาวด์และอุปกรณ์ทางคอมพิวเตอร์

-จีนให้คำมั่นเข้มงวดด้านทรัพย์สินทางปัญหา ส่วนสหรัฐใช้ข้อแลกเปลี่ยนทางภาษีโดยสหรัฐจะลดอัตราภาษีที่บังคับใช้กับสินค้าจีนก่อนหน้านี้ลงครึ่งหนึ่ง จาก 15% ลงมาอยู่ที่ 7.5% ต่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

-ข้อตกลงการค้าระยะแรกนี้จะมีผลบังคับใช้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ลงนาม