ไทยเนื้อหอม!! “จีน” ยกทัพสินค้าไฮเทคมาลงทุน 3.6 แสนล้านปักหลักตั้งฐานผลิต  บีโอไอจัดหนักเงื่อนไขจูงใจในอีอีซี

3258

ตั้งแต่ปี 2562-2563 (มิ.ย.) การลงทุนจากจีนสูงมาเป็นอันดับ 1 แซงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก 84% อยู่ในพื้นที่อีอีซี บีโอไอดัน บริษัทยักษ์เทคโนโลยีชื่อดังอย่างน้อย 5 แห่งนำร่องปักหลักในไทย Huawei, MG, Great Wall, Haier, Futong Group คาดดึงดูดธุรกิจเกี่ยวข้องตามมาเป็นพรวน ด้านสกพอ.พร้อมจัดเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสม อาศัยทูตไทยในต่างแดนเป็นประตู เชื่อม

นายนฤตม์ เทอดสถิรศักด์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยว่าจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2562 และมองว่าในช่วงปี 2563 – 2564 การลงทุนจากจีนจะยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งผลจากสงครามการค้า และการปรับโครงสร้างการลงทุนของหลายบริษัท เพื่อกระจายความเสี่ยงหลังโควิด รวมทั้งทิศทางการมุ่งออกสู่ต่างประเทศของธุรกิจจีน และต้นทุนการผลิตในจีนที่สูงขึ้นมากก็เป็นปัจจัยผลักดัน

ขณะที่ ไทยมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม มีความมั่นคงปลอดภัย มีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและนานาประเทศ โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่นักลงทุนจีนให้ความสนใจมาก อีกทั้ง มีซัพพลายเชนที่ครบวงจร และมีสิทธิประโยชน์จูงใจจากภาครัฐ ซึ่งบีโอไอ หวังว่า การจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงช่วยให้นักลงทุนจีนมองเห็นโอกาสการลงทุนใหม่ๆ และมีความเข้าใจในมาตรการสนับสนุนต่างๆ แต่จะช่วยตอกย้ำให้นักลงทุนจีนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ไทยส่งออกไปจีนก็ดีขยายตัวเป็นบวก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตลาดจีนมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปีนี้จะเป็นตลาดหนึ่งที่มีอัตราขยายตัวเป็นบวก สาเหตุที่การส่งออกไปจีนมีแนวโน้มดีขึ้น แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ 

1.ความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นหลังการหยุดล็อกดาวน์เมืองก่อนหน้านี้ ทำให้สินค้ากลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร ผักสดและผลไม้ และของใช้ประจำวันปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

2.ซัพพลายเชนระหว่างประเทศสามารถขับเคลื่อนได้แล้ว ทำให้ความต้องการวัตถุดิบและอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มกลับมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงชิ้นส่วนยานยนต์

แม้แนวโน้มการส่งออกไปจีนจะดีขึ้น แต่ไม่สามารถทดแทนการส่งออกในภาพรวมได้ เพราะจีนมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดเฉลี่ยที่ 11% ดังนั้น จึงพิจารณาตลาดอื่นในกลุ่มเดียวกัน ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ซึ่งมีแนวโน้มสถานการณ์โควิดคลี่คลายแล้ว  มีดีมานด์จากการบริโภคเพิ่ม และการผลิตสินค้าต่าง ๆ เริ่มกลับมา โรงงานเริ่มเปิดแล้ว  จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเป็นส่วนหนึ่งของซับพลายเชนของกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้ด้วย เบื้องต้น จะเน้นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่คงยืนพื้นในส่วนสินค้าเกษตรและอาหารต่อไปด้วย 

ครึ่งปี 63 โครงการลงทุนจากจีนพุ่ง 17%

ทางด้าน บีโอไอเปิดเผย -โครงการลงทุนของจีนจำนวน 121 โครงการมูลค่าเงินลงทุน 21.923 ล้านบาท ขณะที่ญิ่ปุ่นมูลค่า 22.636 ล้านบาท  และคาดว่าหลังโควิด-19 การลงทุนจากต่างประเทศจะเติบโต (FDI) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

5 กลุ่มธุรกิจขยับลงทุนในไทยแน่นอน

ตั้งแต่ปี 2562-2563 (มิถุนายน)  การลงทุนจากจีนและฮ่องกงมีจำนวน 530 โครงการ มูลค่า 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งเงินลงทุน 84% อยู่ในพื้นที่อีอีซี ได้แก่โครงการที่จีนและฮ่องกงถือหุ้น 100% 363 โครงการ มูลค่า 116,203 ล้านบาท สำหรับโครงการที่ร่วมลงทุนกับไทย 167 โครงการ เงินลงทุน 243,296 ล้านบาท สำหรับกลุ่มธุรกิจที่จะย้ายฐานมาไทยแบ่งเป็นื 5 กลุ่มได้แก่

  1. กลุ่มส่งออกไปสหรัฐและยุโรป ได้แก่อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ 7 โครงการลงทุน 44,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 66 โครงการลงทุน 20,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรทเบา (สิ่งทอ,เครื่องเรียน, เครื่องกีฬา,เครื่องประดับ)57 โครงการลงทุน 14,000 ล้านบาท
  2. กลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูง ได้แก่ ดิจิทัล 57 โครงการลงทุน 7,000 ล้านบาท การแพทย์ 9 โครงการลงทุน 814 ล้าน เทคโนโลยีชีวภาพ 3 โครงการลงทุน 680 ล้านบาท หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 3 โครงการลงทุน 94 ล้านบาท
  3. กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เช่นรถไฟความเร็วสูง 1.6 แสนล้านบาท การขนส่งทางเรือ 5 โครงการ ลงทุน 3,600 ล้านบาท ศูนย์กระจายสินค้า 4 โครงการ ลงทุน 760 ล้านบาท การผลิตไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 17 โครงการ ลงทุน 1,200 ล้านบาท
  4. การจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ กิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนื 44 โครงการ ลงทุน 1,100 ล้านบาท
  5. การลงทุนในอุตสาหกรรม และบริการทั่วไปป้อนตลาดภายในประเทศและส่งออก 69 โครงกาน ลงทุน 51,000 ล้านบาท ยานยนต์-ชิ้นส่วน 24 โครงการ ลงทุน 12,000 ล้านบาท เคมีภัณฑ์พลาสติก 49 โครงการ ลงทุน 10,000 ล้านบาท เกษตร-อาหารแปรรูป 42 โครงการ ลงทุน 6,900 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  6 โครงการ ลงทุน 5,300 ล้านบาท

ธุรกิจยักษ์ใหญ่หลายสาขาสนใจลงทุนไทย ได้แก่ โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ SIAC Moter (MG) บริษัท Great Wall Moter และบริษัท Skywell, โครงการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ บริษีท Media และบริษัท Haier, บริษัท Huawei- Huawei Academy ฝึกอบรมด้าน 5G, AI และนวัตกรรมชั้นสูงด้านดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีบริษัทด้านแพลตฟอร์มการเงิน, ไบโอแมทริกซ์, ด้านพันธุกรรมเป็นต้น

สกพอ.พร้อมจัดแพ็คเกจหนุนลงทุน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.ปรึกษาบีโอไอ พิจารณาให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจการลงทุน เพื่อไม่ซ้ำซ้อน ทางสกพอ.หารือกับเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศจำนวน 20-30 ประเทศ ประสานชักชวนให้บริษัทด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงทุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้สนใจลงทุนในไทยให้คล่องตัวขึ้น

………………………………………………….