เยอรมนีแบนก๊าซรัสเซียเกิดเรื่องสุดสยองรอบ40ปี ขณะอียูขาสั่นรออีก5ปีตัดขาดพลังงานเด็ดขาด

1545

จากที่กลุ่มประเทศพันธมิตรสหรัฐพากันคว่ำบาตรรัสเซีย ไม่นำเข้าน้ำมัน พลังงาน แต่ท้ายที่สุดประชาชนในประเทศกลับได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะที่กำลังเป็นประเด็นถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกขณะนี้ นั่นคือ กรณีของเยอรมัน!!?

ทั้งนี้ความคืบหน้าเพจเฟซบุ๊ก Thailand Vision ได้โพสต์ข้อความเผยแพร่ไว้บางส่วนที่ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า “สื่อต่างประเทศรายงาน เศรษฐกิจของเยอรมนีจะดิ่งสู่ภาวะถดถอยรุนแรงหากตัดขาดอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในทันที จากคำเตือนของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศในวันพุธ (13 เม.ย.) ขณะที่สหราชอาณาจักร พบอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปี ถูกซ้ำเติมจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

เยอรมนีจะสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจ 220,000 ล้านยูโร (ราว 238,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า หากตัดขาดอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในทันที จากข้อมูลที่รายงานโดยสถาบันเศรษฐกิจของเยอรมนี 5 แห่ง

พวกผู้นำอียูเห็นพ้องกันในการเลิกนำเข้าถ่านหินจากรัสเซียอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนทางแหล่งข่าวอียูเปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่ามาตรการแบนนำเข้าถ่านหินจะเริ่มในเดือนสิงหาคม และเวลานี้ได้มีการหารือเกี่ยวกับการคว่ำบาตรรอบที่ 6 แล้ว โดยที่เจ้าหน้าที่อียูบางส่วนเรียกร้องให้จัดการกับการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย

การแบนก๊าซธรรมชาติรัสเซียในระยะเวลาอันใกล้นี้จะก่อผลกระทบอันน่าสยดสยองแก่เยอรมนี จากข้อมูลของทบวงพลังงานสากล พบว่า เยอรมนีพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติของรัสเซียราวๆ 46% จากอุปทานก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของพวกเขาในปี 2020 โดยคนเยอรมนนีใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับเป็นเชื้อเพลิงสร้างความอบอุ่นในครัวเรือน ใช้ผลิตไฟฟ้าและป้อนพลังงานสู่โรงงานต่างๆของพวกเขา

สหภาพยุโรปบอกว่ากำลังพยายามลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลง 66% ในปีนี้ และจะตัดขาดการพึ่งพิงพลังงานรัสเซียโดยสิ้นเชิงในปี 2027

คริสเตียน ลินเดอร์ รัฐมนตรีคลังของเยอรมนี ระบุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่า ประเทศของเขากำลังดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในการละทิ้งพลังงานรัสเซีย แต่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะหยุดใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในทันที

การเล็งเป้าเล่นงานอุปทานก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย ดูเหมือนทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อในเยอรมนีเลวร้ายลงไปอีก ซึ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว

โดยราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปัจจัยหลักคือราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 40% ในช่วงเวลาเดียวกัน

แต่หากเทียบเป็นรายเดือน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเวลานี้ของปี นับตั้งแต่สำนักงานสถิติแห่งชาติเริ่มบันทึกสถิติมาในปี 1988 เลยทีเดียว ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อดีดตัวสูงขึ้น เป็นผลจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นในวงกว้าง ไล่ตั้งแต่เชื้อเพลิงยานพาหนะ อาหาร ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์”