เปิดลึก “เมียนมา” เห็นชอบแขวนรัสเซีย! พบเป็นทูตสมัยรบ.อองซาน-ชูสามนิ้วกลางวงUN
จากกรณีที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก มีมติระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UNHRC) หลังมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในวงกว้างอย่างเป็นระบบโดยกองกำลังรัสเซีย ซึ่งรุกรานยูเครนมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
มติที่ให้ระงับสมาชิกภาพของรัสเซียนี้ มาจากการผลักดันของสหรัฐฯ ส่งผลให้มีชาติที่ลงมติเห็นชอบ 93 ประเทศ จากทั้งหมด 193 ประเทศ ในขณะที่มีชาติลงมติคัดค้าน 24 ประเทศ และงดออกเสียง 58 ประเทศ โดยไทยและชาติสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา เป็นส่วนหนึ่งที่งดออกเสียง ในขณะที่ลาวและเวียดนามลงมติไม่เห็นชอบต่อการระงับสมาชิกภาพของรัสเซีย ทั้งนี้ ประเทศเมียนมาและฟิลิปินส์ ลงมติเห็นชอบให้ระงับสมาชิกภาพของรัสเซียในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
ต่อมาทางด้านของ เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า
ไม่แปลกที่ #เมียนมา โหวต #เห็นชอบ แขวน #รัสเซีย จาก #UNHRC เพราะ #ทูตเมียนมา ที่ #UN เป็นทูตสมัยรัฐบาล #อองซานซูจี ไม่ใช่ทูต #รัฐบาลเมียนมา ปัจจุบัน แม้รัฐบาลทหารจะตั้งทูตคนใหม่ แต่ UN ยังไม่รับรอง เก็บไว้กวน TEEN รัฐบาลเมียนมาไปวันๆ
อย่างไรก็ตาม จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ เคยถูกปลดออกจากตำแหน่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ปีนี้ เนื่องจากประพฤติผิดในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หลังชู 3 นิ้ว กลางที่ประชุม UN
โดยเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564 นายจอ โม ตุน ได้เรียกร้องให้นานาชาติร่วมคัดค้านการก่อรัฐประหารในเมียนมา และใช้ “วิธีที่จำเป็นใด ๆ ก็ตาม” เพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมา และคุ้มครองความปลอดภัยและความมั่นคงต่อชาวเมียนมา
ทูตเมียนมากล่าวว่า เขาเป็นตัวแทนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซู จี ผู้ถูกกองทัพโค่นอำนาจ ซึ่งเป็น “รัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมและเหมาะสม” และไม่ได้เป็นตัวแทนของกองทัพที่ยึดอำนาจ
เขาระบุว่า การก่อรัฐประหารนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและไม่สามารถยอมรับได้ในโลกสมัยใหม่ และว่า “เราจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ซึ่งเรียกเสียงปรบมือมากมายจากบรรดานักการทูตที่เข้าร่วมประชุมที่สหประชาชาติในวันนั้น
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมา พยายามอย่างยิ่งที่จะปลดนายตุนและแต่งตั้งทูตคนใหม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคำร้องให้มีการตั้งทูตคนใหม่ประจำยูเอ็นนั้นต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการแต่งตั้งที่มีสมาชิกจาก 9 ประเทศเสียก่อน โดยสมาชิกล่าสุด คือ แคเมอรูน จีน ไอซ์แลนด์ ปาปัวนิวกีนี รัสเซีย ตรินิแดดแอนด์โทบาโก แทนซาเนีย อุรุกวัย และสหรัฐฯ
ทางด้านรองโฆษกสหประชาชาติ ฟาร์ฮาน แฮ็ก กล่าวว่า เท่าที่ทราบจนถึงขณะนี้ยังไม่มีกำหนดการประชุมของคณะกรรมการชุดนี้เพื่อแต่งตั้งทูตเมียนมาประจำยูเอ็นคนใหม่แต่อย่างใด
เมื่อเดือนมิถุนายน สหประชาชาติมีแถลงการณ์ว่า นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้ระบุถึงการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งพรรคของนางซู จี ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ว่าเป็นการเลือกตั้งที่ถูกต้อง และควรยืนยันผลการเลือกตั้งดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ (ยูเอ็นจีเอ) ลงมติประณามรัสเซีย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ตามเวลาสหรัฐ โดยมี 141 ชาติที่ลงมติเห็นชอบ มี 5 ชาติที่โหวตคัดค้าน และมี 35 ชาติงดออกเสียง โดยประเทศไทยก็ลงมติสนับสนุนข้อมติดังกล่าวเช่นกันนั้น และมีรายงานระบุว่า เมียนมา ก็เป็นอีกประเทศที่ยกมือสนับสนุนข้อมติประณามรัสเซียด้วยเช่นกัน
และเขาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนข้อมติดังกล่าวในที่ประชุมยูเอ็นจีเอ เรียกร้องให้รัสเซียหยุดยิงและโจมตีเข้าใส่ชาวยูเครนในทันที และเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านของยูเครนรับบรรดาผู้ลี้ภัยในสงคราม และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
สำหรับนายจอ โม ตุน เป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเมียนมา ประจำสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2018 ภายใต้รัฐบาลพลเรือนนำโดยนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ โดยหลังกองทัพรัฐประหารรัฐบาลซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศปลดนายจอ โม ตุน ออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม นายจอ โม ตุน ยังคงนั่งในตำแหน่งนี้ต่อไปหลังจากได้รับการเสนอชื่อจากรัฐสภาเมียนมาพลัดถิ่น (ซีอาร์พีเอช) และได้รับการสนับสนุนจาก ลินดา โธมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐอเมริกา ประจำสหประชาชาติ นอกจากนี้การขัดขวางไม่ให้ตัวแทนกองทัพเมียนมาเข้าร่วมประชุมยูเอ็นจีเอ เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 ก็ส่งผลให้ความพยายามของรัฐบาลทหารเมียนมาแต่งตั้งผู้ที่จะมาแทนที่นานยจอ โม ตุน ต้องล้มเหลวลง