สหรัฐหน้าแหก!! โอเปคกร้าวชี้นิ้วสั่งไม่ได้ เศรษฐีน้ำมันไม่ทิ้งปูติน ยันอีก 10 ปียังไม่มีใครแทนที่รัสเซีย

1549

กลุ่มโอเปคยังไม่เคยประกาศอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับการเลือกข้างระหว่างสหรัฐและรัสเซีย ในวิกฤติสงครามยูเครน แต่การกำหนดนโยบาย และท่าทีของกลุ่มโอเปค ประเทศผู้กุมชะตาราคาน้ำมันโลก ชัดเจนในตัวเองแล้วว่า เลือกที่จะอยู่ฝั่งรัสเซียแน่แล้ว เพราะตลอดเวลาที่อยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐและตะวันตก กลุ่มอ่าวซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของโอเปคถูกสหรัฐแบล็คเมย์ตลอด ใช้สงครามข่าวสารโจมตีกระหน่ำเวลาไม่พอใจ  พอมีการตกลงจัดซื้ออาวุธก้อนใหญ่ข่าวที่โจมตีก็จะซาไปโดยอัตโนมัติ  

วันที่ 4 เม.ย.2565 สำนักข่าวซีเอ็นบีซีและทาซซ์รายงานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวในกลุ่มประเทศโอเปคอย่างต่อเนื่องตลอดปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สะท้อนท่าทีของกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปคท่ามกลางแรงกดดันของสหรัฐฯต่อการคว่ำบาตรรัสเซียและขอให้สนับสนุนพลังงานทดแทนแก่ยุโรป  

เจ้าชายอับดุล อาซิซ บิน ซัลมาน อัล ซาอุด รมว.พลังงานของซาอุดีอาระเบีย ( Saudi Energy Minister Prince Abdul Aziz bin Salman) ทรงมีพระดำรัสเกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐและตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งไปถึง 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประมาณ 4,600 บาท ในช่วงต้นเดือนมีนาคม  และจนถึงตอนนี้ยังคงแตะอยู่ที่ระดับกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประมาณ 3,300 บาท

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมถือว่า ตลาดน้ำมันโลกยังคงมีเสถียรภาพ นั่นเป็นเพราะการทำงานขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (โอเปค) และความร่วมมือกับ “พันธมิตร” ในนามโอเปคพลัส ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรัสเซีย หากไม่มีการรวมตัวเช่นนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกอาจแย่ยิ่งกว่าที่จะมีใครประเมินได้ นอกจากนี้ เจ้าชายอับดุลอาซิซทรงยืนยันว่า โอเปค “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโลกอย่างเด็ดขาด”

 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไม่ได้เป็นสงครามตามรูปแบบดั้งเดิม แต่เป็น “สงครามลูกผสม” ที่รวมยุทธศาสตร์หลายรูปแบบเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในกรณีของยูเครนและรัสเซีย เรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นใหญ่เกี่ยวข้องกับมิติด้านน้ำมัน จากการที่รัสเซียคือหนึ่งในประเทศผู้ผลิตพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นหนึ่งใน “พันธมิตร” กับองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปค ในนาม “โอเปคพลัส”

ทั้งนี้ ท่าทีของหนึ่งในสมาชิกระดับแกนนำของโอเปค คือ ซาอุดีอาระเบีย ที่มีต่อสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ในบริบทเกี่ยวกับพลังงาน ชัดเจนว่า รัฐบาลริยาดเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเช่นกัน นัยว่าเพื่อคานอำนาจด้านราคา โดยรัฐบาลวอชิงตันต้องการให้ราคาน้ำมันลดลงต่ำมากกว่านี้ แต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรงมีสถานะผู้ปกครองโดยพฤตินัยของราชอาณาจักรแห่งนี้ ทรงมีจุดยืนแน่ชัดแล้วว่า ร่วมมือกับรัสเซีย เพื่อรักษาราคาน้ำมันให้เป็นไปตามกลไกตลาด และประกาศใช้เงินหยวน-รูเบิลแลกเปลี่ยนซื้อขายน้ำมัน เทดอลลาร์อย่างไม่ใยดี

นอกจากนี้ รัฐบาลริยาดแสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ประสงค์ร่วมมือกับรัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตรตะวันตก หากมีกรณีเชื่อมโยงกับเรื่องพลังงาน เนื่องจากสหรัฐถือเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกพลังงานรายใหญ่อันดับต้นของโลกก็มีส่วนกดดันให้ราคาน้ำมันสูงหรือต่ำในตลาดโลกเช่นกัน และปัญหาการขาดแคลนน้ำมันในยุโรปก็สหรัฐเองเป็นต้นเหตุก่อเรื่อง 

จนถึงขณะนี้ โอเปกยังคงยืนกรานว่า ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดพลังงานโลกในเวลานี้ “ไม่ใช่ความรับผิดชอบ” ของโอเปค ในการต้องเป็นผู้บรรเทาสถานการณ์ และนโยบายในอนาคตจะเป็นเช่นใด ต้องเป็นผลจากการร่วมตัดสินใจกับรัสเซียด้วย

ด้านกาตาร์  รมว.กระทรวงพลังงานกล่าวชัดว่าไม่มีใครแทนที่รัสเซียในด้านพลังงานได้  และยืนยันว่าไม่สามารถช่วยเหลือยุโรปในการส่งมอบก๊าซตามที่สหรัฐร้องขอ

ซาอัด เชอริดา อัล คาบีรมว.กระทรวงพลังงานกาตาร์ (Saad Sherida Al Kaabi) กล่าวว่าปัจจุบัน กาตาร์ไม่สามารถช่วยเหลือยุโรปในการส่งมอบก๊าซได้ เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรัสเซียในขั้นตอนนี้ ในการประชุมครั้งล่าสุดที่ Doha Forum เมื่อเร็วๆนี้

เขากล่าว“ผมไม่คิดว่าในขณะนี้ เราสามารถช่วยเหลือยุโรปโดยด่วนได้ในทันทีเพราะไม่มีใครสามารถแทนที่รัสเซียในด้านการจัดหาพลังงาน  ที่ผ่านมารัสเซียผลิตและส่งออกก๊าซให้ยุโรปประมาณ 30-40% ของการส่งมอบก๊าซทั้งหมด และเอมิเรตไม่สามารถทดแทนปริมาณดังกล่าวได้อย่างฉับพลัน

ด้านซูฮาอิล อัล มาสรุย (Suhail Al Mazrouei) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE กล่าวว่า ตะวันตกควร “เชื่อมั่น” กับการทำงานของโอเปค ไม่ใช่มาชี้นิ้วสั่ง” เพราะเป้าหมายของโอเปค คือการขับเคลื่อนนโยบายด้านน้ำมันให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคอยู่แล้ว

เขากล่าวว่า“เราเห็นด้วยกับเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของตะวันตกในการพยายามทำให้ตลาดสงบและสร้างสมดุลให้กับตลาด แต่พวกคุณไม่ควรทำโดยการคว่ำบาตรพลังงานที่คุณไม่สามารถทดแทนที่ได้ เว้นแต่คุณต้องการให้มันมีราคาสูงขึ้น” “พวกเขากำลังทำอะไรบางอย่าง แต่คาดหวังปฏิกิริยาตรงกันข้าม ซึ่งไม่สมเหตุผลและมันจะไม่เกิดขึ้น”

อัล มาสรุย กล่าวว่า รัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของโอเปกพลัส และ จะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ทุกฝ่ายต้องให้เกียรติรัสเซียในฐานะหนึ่งในสมาชิก และเตือนมาตรการคว่ำบาตรพลังงานของตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย ด้วยการตั้งคำถามกลับไปว่า “ประเทศใดมีศักยภาพการผลิตและส่งออกพลังงานเทียบเท่ารัสเซียบ้าง โดยเฉพาะภายในระยะเวลา 10 ปีนี้ยังหาไม่เจอ”

กลุ่มโอเปคพลัส(OPEC+) ที่นำโดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ล่าสุดได้เพิ่มกำลังผลิตเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน พันธมิตรด้านพลังงานยังคงยืนหยัดดำเนินการตามมติต่อไป แม้จะมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง กลุ่มOPEC เพียงกลุ่มเดียวมีสัดส่วนผลิตประมาณ 40% ของอุปทานน้ำมันของทั่วโลก 

โอเปคพลัส(OPEC+) เป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 24 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 14 ชาติของ Organization of Petroleum Exporting Countries (OPEC) และสมาชิกที่ไม่ใช่ OPEC อีก 10 ประเทศ รวมถึงรัสเซีย

กลุ่ม OPEC นำโดยซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มขณะที่รัสเซียเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศที่ไม่ใช่กลุ่มโอเปก

OPEC เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลถาวรที่ก่อตั้งขึ้นในการประชุมแบกแดดในปี 2503ปัจจุบันรายชื่อทางการของสมาชิก OPECได้แก่ Algeria, Angola, Equatorial Guinea, Gabon, Iran, Iraq, Kuwait, Libya, Nigeria, the Republic of the Congo, Saudi Arabia, the United Arab Emirates and Venezuela

กลุ่มนอกโอเปกจะประกอบด้วยรัสเซีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บรูไน คาซัคสถาน มาเลเซีย เม็กซิโก โอมาน  สาธารณรัฐซูดานและเซาท์ซูดาน มีรัสเซียเป็นแกนนำกลุ่ม