จากที่ สนธิญา สวัสดี ยื่นกกต.เพื่อพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย กรณีไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธ์ หรือ แอมมี่ บอตทอมบลูส์ โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงพรรคเพื่อไทย สนับสนุนการเงินในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองนั้น
ต่อมาวันที่ 24 กันยายน 2564 พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีของนายสนธิญา ที่ไปยื่นกกต.ให้ยุบพรรคเพื่อไทย โดยระบุบางช่วงว่า
นายสนธิญา ได้นำเพียงข้อความบนเฟซบุ๊กของนายไชยอมรฯ ไปร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เพียงพอก่อนนำไปร้อง แต่กลับนำข้อความหรือคำพูดดังกล่าวไปร้องต่อ กกต.ทันทีแสดงให้เห็นว่านายสนธิญาฯ มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับนายสนธิญาฯ เช่นกันตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 101
พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยและต่อสู้กับอำนาจเผด็จการมาโดยตลอด แต่พรรคก็ยึดหลักสันติวิธี ไม่นิยมการใช้ความรุนแรงใดๆ และพรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าไม่เคยมีนโยบาย หรือให้เงินทุนสนับสนุนผู้ชุมนุมกลุ่มใด แต่ด้วยความเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก การที่จะมีสมาชิกพรรคคนใดไปร่วมชุมนุม หรือสนับสนุนการชุมนุมก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลและความรับผิดชอบส่วนตัว ที่ผ่านมาไม่เคยมีสมาชิกผู้ใดไปกล่าวอ้างว่ากระทำในนามพรรค
นั่นคือถ้อยแถลงของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาปฏิเสธให้เงินทุนสนับสนุนการชุมนุม ตามที่แอมมี่ โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก ซึ่งจากข้อความเนื้อหานั้น ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคไม่ได้ปฏิเสธว่ามีการกระทำเกิดขึ้นจริงหรือไม่ โดยชี้ให้เห็นว่า สมาชิกคนใดไปร่วมชุมนุมหรือสนับสนุนก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ดังนั้นทีมข่าวเดอะทรูธ จึงอยากพาย้อนกลับไปเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว อันปรากฏการเคลื่อนไหวกลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทยอันเกี่ยวโยงกับผู้ชุมนุมตามไทม์ไลน์อย่างน่าสนใจยิ่งดังนี้
14 สิงหาคม 2563 ที่รัฐสภา นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การปกครอง สภาผู้แทนราษฏร พร้อม ส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงถึงการชุมนุมแต่ละจังหวัดว่า พรรคเพื่อไทยได้มีมติให้ตัวแทนส.ส.เขตในจังหวัดนั้นๆ เข้าไปดูแลประสานงานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ทันที
“หากมีการชุมนุม โดยช่วยดูแลความสงบและความปลอดภัยให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงการชุมนุมของนักศึกษาว่าได้ขยายตัวมากขึ้น จึงได้ให้ส.ส.แต่ละพื้นที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง เพราะถือเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรในพื้นที่ พรรคเพื่อไทย ยังได้ทำหนังสือรับรองเงินเดือน หากนิสิตนักศึกษาถูกจับกุม พรรคเพื่อไทยพร้อมจะเข้าไปประกันตัวทันที”
เมื่อถามย้ำว่า กรณีนักศึกษาที่จัดชุมนุม พูดถึงเรื่องสถาบัน พรรคเพื่อไทยจะได้รับผลกระทบด้วยหรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบ ใครพูดอะไรก็พูดไป เราไม่มีสิทธิไปบังคับ เพราะเราแค่เข้าไปดูแลความปลอดภัย ความเรียบร้อยและสังเกตการณ์และแจ้งข้อมูลมายังอนุกรรมาธิการการปกครองเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยได้ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน จำนวน 32 คน โดยมีรายชื่อ ดังนี้ 1.นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี 2.นายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตส.ส.อุบลราชธานี 3.น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. 4.นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี 5.นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.
6.นางสมหญิง บัวบุตร ส.ส.อำนาจเจริญ 7.นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. 8.นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี 9.นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี 10.นายรัฐกิตติ์ ผาลีพัฒน์ ส.ส.อำนาจเจริญ 11.นายประภูศักดิ์ จินตะเวช ส.ส.อุบลราชธานี 12.นายดะนัย มะหิพันธ์ ส.ส.อำนาจเจริญ 13.นายปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ ส.ส.ยโสธร 14.นายบุญแก้ว สมวงศ์ ส.ส.ยโสธร 15.นายธนกร ไชยกุล ส.ส.ยโสธร
16.น.ส.ชนก จันทาทอง ส.ส.หนองคาย 17.นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ ส.ส.เลย 18.นายภาควัต ศรีสุรพล ส.ส.ขอนแก่น 19.นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู 20.นายณัฐวุฒิ กองจันทร์ดี 21.น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ 22.นายองอาจ วงษ์ประยูร ส.ส.สระบุรี 23.นายภณณัฏฐ์ ศรีอินทร์สุทธิ์ ส.ส.นนทบุรี 24.นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.กทม. 25.นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ส.ส.กทม.
26.น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. 27.นางสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ส.ส.กทม. 28.นายจิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา 29.นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ 30.นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น 31.น.ส.กิตติ์รัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี 32.น.ส.จิราพร สินธุ์ไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด
16 สิงหาคม 2563 ที่พรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น พร้อมด้วยนายสมคิด ร่วมประชุมแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในช่วงเย็นวันที่ 16 ส.ค.ทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
โดยนายสมคิด กล่าวว่า เราห่วงใยสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและประชาชน ในฐานะที่เรามาจากประชาชนจะนิ่งดูดายไม่ได้ วันนี้คณะทำงานติดตามการชุมนุมแต่ละจังหวัด จะเข้าไปดูแลสถานการณ์การชุมนุมในทุกพื้นที่ ซึ่งการทำงานครั้งนี้ ทำภายใต้กติกาของสภาฯไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง
“เรากลัวเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จึงทำหนังสือไปถึง ผบ.ตร.ว่าคณะทำงานฯจะเข้าพื้นที่การชุมนุมเพื่อสังเกตการณ์ โดยจะไปตั้งโต๊ะบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยระหว่าง ถนนดินสอ – ซอยราชดำเนินกลางเหนือ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. หากนิสิตนักศึกษาโดนละเมิดสิทธิ สามารถเข้ามาแจ้งด้โดย ส.ส.กทม.ของพรรคเพื่อไทยจะไปรออำนวยความสะดวก และประสานให้ความช่วยเหลืออยู่ในจุดที่มีผู้ชุมนุม จากนั้นจะแจ้งสถานการณ์เข้ามาที่คณะทำงานต่อไป” นายสมคิด กล่าว
18 กันยายน 2563 ที่รัฐสภา นายสมคิด แถลงจากการที่คณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามการชุมนุมของนิสิต นักศึกษา ประชาชน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ถนนราชดำเนิน เห็นว่าควรดำเนินการประสานงานเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ ดังนั้นในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน ที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-สนามหลวง
คณะทำงานฯได้รวบรวมอาสาสมัคร ได้แก่ ส.ส.กทม. ส.ส.ทางภาคอีสาน ผู้ช่วยส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และผู้สนใจ รวมถึงส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านบางส่วน ที่ลงทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่แล้วกว่า 80 คน โดยจะจัดตั้งเต๊นท์ศูนย์อำนวยการติดตามการชุมนุมบริเวณพระแม่ธรณีบีบมวยผม ใกล้สนามหลวง เพื่อคอยประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงจะมีแถลงข่าวรายงานความคืบหน้าของเหตุการณ์ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 11.00น. 14.00น. และ16.00น. โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายสมคิด ยังกล่าวอีกว่า ทางเต๊นท์ศูนย์อำนวยการฯ ได้จัดเตรียมเอกสารสำหรับการประกันตัวนิสิต นักศึกษา หากถูกดำเนินคดี โดยมีหลักการคือจะต้องเป็นนิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ในที่ชุมนุม หรือกรณีที่หากถูกดำเนินคดีแล้วไม่มีผู้ปกครองหรือครูอาจารย์มาช่วยเหลือ เราก็จะรับดำเนินการ
19 กันยายน 2563 คณะทำงานเพื่อติดตามการชุมนุมฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสมคิด พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้เปิดศูนย์อำนวยการบริเวณศาลฎีกา ด้านข้างสนามหลวง เพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์การชุมนุมใหญ่ทางการเมือง และเพื่อเป็นคนกลางประสานงานระหว่างรัฐกับประชาชนต่อการบังคับใช้กฎหมาย
พร้อมจัดทีมลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ ในการชุมนุมพร้อมเรียกร้องให้ตำรวจอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม หลังพบอุปสรรคของผู้ชุมนุมต่างจังหวัดที่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่18 กันยายน
ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาลในพื้นที่ คณะทำงานฯ เห็นว่าภาคีนักศึกษาศาลายา จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดจุดบริการรักษาพยาบาลข้างสนามหลวงรองรับไว้แล้ว แต่ยังกังวลถึงการบริหารจัดการภายในของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง หากมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเวลาประมาณ 16.00 – 17.00 น. จึงได้ประสานกับ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เตรียมลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์เพิ่มเติม นำโดยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน