เปิดเบื้องลึก “เจ้าชายซาอุฯ” ไม่เพิ่มน้ำมันให้ “อังกฤษ”! เกมพลิก “นาโต” ระส่ำเอง!

1671

เปิดเบื้องลึก “เจ้าชายซาอุฯ” ไม่เพิ่มน้ำมันให้ “อังกฤษ”! เกมพลิก “นาโต” ระส่ำเอง!

จากกรณีที่ ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังจะดึงสกุลเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก ด้วยการกำหนดราคาน้ำมันบางส่วนที่ขายให้จีน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็น “สกุลเงินหยวน”

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ซาอุดีอาระเบียกำลังเร่งเครื่องเจรจากับจีน และถ้าซาอุดีอาระเบียขายน้ำมันให้จีนเป็นเงินหยวน ก็จะถือเป็นการ “ลดทอน” อิทธิพลของสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อตลาดน้ำมันโลก และแสดงถึงการ “หันหน้าเข้าหาเอเชีย” ของซาอุดีอาระเบียด้วย

การเจรจาเพื่อกำหนดราคาน้ำมันเป็นเงินสกุลหยวนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ค่อยจะราบรื่นนัก แต่กลับมีความคืบหน้าที่รวดเร็วในปีนี้ จากการที่ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจสหรัฐฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งเรื่องไม่สนับสนุนที่ซาอุดีอาระเบียเข้าไปแทรกแซงสงครามในเยเมน และสหรัฐฯ ยังจะไปพยายามรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน โดยเมินเสียงเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียที่ต้องการมีนิวเคลียร์ของตัวเอง รวมไปถึงการถอนทหารแบบสายฟ้าแลบออกออกจากอัฟกานิสถาน

จีน ซื้อน้ำมันมากกว่า 25% ของจำนวนที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกทั้งหมด ซึ่งถ้ากำหนดราคาเป็นหยวนก็จะช่วยเพิ่มสถานะสกุลเงินของจีน และเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมของซาอุดีอาระเบีย ที่จะกำหนดราคาการส่งออกน้ำมันดิบบางส่วน ประมาณ 6.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่สกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่การขายน้ำมันส่วนใหญ่ราว 80% ดำเนินการในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งซาอุดีอาระเบียดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2517 ภายใต้ข้อตกลงสมัยอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่สหรัฐฯ ให้การรับประกันว่าจะปกป้องราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

จีน ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินที่สามารถทำการซื้อขายได้ทั่วโลก ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการครอบงำตลาดน้ำมันของดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนความสัมพันธ์จีนกับซาอุดีอาระเบียเริ่มกระชับมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากการที่จีนช่วยซาอุดีอาระเบียสร้างขีปนาวุธของตัวเอง ให้คำปรึกษาเรื่องโครงการนิวเคลียร์ และเริ่มเข้าไปในลงทุนในอภิมหาโครงการของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เช่น เมืองอัจริยะ “Neom” และการเยือนซาอุดีอาระเบียของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปี 2559

ทั้งนี้ ในด้านความสัมพันธ์ของจีน รัสเซีย และซาอุฯ มีแนวโน้มที่ดีมากยิ่งขึ้น ซาอุดิอาระเบียเริ่มเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ กับรัสเซียและจีนด้วย ซึ่งตอนนี้มีโครงการพลังงานมหาศาลร่วมกับจีน ยินดีค้าขายกับจีนโดยรับเงินหยวนแทนเปโตรดอลล่าร์ รวมทั้งขายน้ำมันด้วย

อย่างไรก็ตาม ย้อนไปก่อนหน้านี้ มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร แห่งซาอุดิอาระเบีย และเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน มกุฎราชกุมารแห่งรัฐอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ปฏิเสธคำขอพูดคุยผ่านโทรศัพท์กับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ เพื่ออ้อนวอน 2 ชาติมหาอำนาจน้ำมันโลก ช่วยผลิตน้ำมันเพิ่ม ต่อมากลุ่มโอเปคได้ออกมาแถลงแบบแสบสันต์ว่า “ไม่อาจเนรมิตน้ำมันให้สหรัฐตามต้องการได้ เพราะตกลงโควต้าน้ำมันกับรัสเซียไว้แล้ว”

ในขณะที่ทางด้าน นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นหนึ่งชาติสมาชิกนาโต ได้เยือนซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา และเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน

หลังเสร็จสิ้นการเข้าเฝ้าฯ จอห์นสันกล่าวเพียงว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ดและรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย “มีความเข้าใจ” ต่อการที่ตลาดพลังงานโลก “ขาดเสถียรภาพ” เนื่องจากวิกฤติการณ์ในยูเครน ที่ส่งให้ราคาเชื้อเพลิงทุกประเภทพุ่งทะยาน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลริยาดจะประเมินสถานการณ์ด้วยความรอบคอบ โดยเชื่อว่า โลกจะไม่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและภาวะเงินเฟ้อ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐ ระหว่างปี 2512-2513

 

ก่อนการเยือนกรุงริยาด ผู้นำสหราชอาณาจักรเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) เพื่อเข้าเฝ้าฯ ชีคโมฮัมเหม็ด บิน ซาเย็ด อัล-นาห์ยาน มกุฎราชกุมารแห่งอาบูดาบี เพื่อหารือในเรื่องเดียวกัน และมีรายงานว่า “ได้รับคำตอบแบบเดียวกัน”

 

ซึ่งทางด้านของ นายโจ ไบเดน ก่อนหน้านี้ที่ได้ ประกาศห้ามนำเข้าน้ำมันและพลังงานอื่นๆ ของรัสเซีย เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครน ตอกย้ำการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งของทั้งสองพรรคการเมืองสหรัฐ สำหรับในการเคลื่อนไหวที่นายไบเดนเขายอมรับว่า จะทำให้ราคาพลังงานของสหรัฐสูงขึ้น

ทั้งนี้รัสเซีย ได้ประกาศขึ้นบัญชี 22 ประเทศและดินแดนต่างชาติที่กระทำการเข้าข่ายไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา สหภาพยุโรป อังกฤษ ยูเครน มอนเตเนโกร สวิตเซอร์แลนด์ แอลเบเนีย อันดอร์รา ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ โมนาโก นอร์เวย์ ซานมารีโน นอร์ทมาซิโดเนีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และไต้หวัน ประกาศดังกล่าวยังระบุว่า ประเทศและดินแดนเหล่านี้ได้ประกาศใช้หรือเข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หลังรัสเซียเริ่มใช้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า การคว่ำบาตรพลังงานและน้ำมัน จึงไม่กระทบต่อรัสเซีย แต่กลับย้อนรอยกระทบต่อประเทศที่คว่ำบาตรอย่างรุนแรง ทำให้ขาดแคลนน้ำมัน และมีราคาน้ำมันที่สูงขึ้น รวมไปถึงสินค้าอื่นๆด้วย