ปชช.ทั่วโลก ต้องก้มหน้ารับชะตากรรม? “ที่ปรึกษาผู้นำยูเครน” เผยไต๋ วางแผนชัดเดินหน้าสู้รัสเซีย ยื้อปมเดือด ให้จบในต้นเดือนพ.ค.!

1302

หลังจากที่วิกฤตของรัสเซียและยูเครน ยืดยื้อมาถึงสัปดาห์ที่ 3 และมีมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นในรัสเซีย ทำให้นักวิชาการไทยหลายท่านมองว่า เรื่องนี้อาจจะไม่จบง่าย หรือหากจะจบได้ ต้องมีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งยอมถอย รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาก็ควรหยุดยุนานาประเทศ ให้ทำตามความต้องการที่จะคว่ำบาตรด้วย

ทั้งนี้ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้ โดยระบุบางช่วง บางตอน ถึงวิกฤตของรัสเซียและยูเครน ดังนี้ว่า สงครามครั้งนี้ ความเดือดร้อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพลเมืองของยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น แต่มาตรการคว่ำบาตรสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวโลกในทุกประเทศ ประธานาธิบดีไบเดน แถลงว่ามาตรการคว่ำบาตรจะทำให้คนอเมริกันต้องเดือดร้อน แต่นั่นคือราคาค่าการรักษาเสรีภาพที่จำเป็นต้องจ่าย ความผิดทั้งหมดจึงถูกผลักไปให้เป็นของประธานาธิบดีปูติน แต่เพียงผู้เดียวเพราะเป็นผู้เริ่มสงครามครั้งนี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่ก่อนสงคราม สหรัฐอเมริกาและ EU ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียทันทีที่ รัสเซียประกาศรับรองการเป็นรัฐอิสระของ Donetsk และ Luhansk และนั่นอาจเป็นชนวนเหตุที่เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ ประธานาธิบดีปูติน ตัดสินใจบุกยูเครน

ล่าสุดมีรายงานว่า สื่อยูเครนหลายแห่งเผยแพร่คลิปของนายโอเล็กซี อาเรสโตวิช ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดียูเครน ที่กล่าวว่า เวลาจบสงครามที่แน่ชัดขึ้นกับว่ารัสเซียพร้อมจะทุ่มทรัพยากรในการทำสงครามมากน้อยเพียงใด เขาคิดว่าควรจะมีข้อตกลงสันติภาพไม่เกินเดือนพฤษภาคม โดยอาจเป็นต้นเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ขณะนี้กำลังอยู่กลางทางแยก อาจจะมีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพโดยเร็วภายใน 1-2 สัปดาห์และมีการถอนทหาร หรืออาจจะมีความพยายามทำลายทุกอย่าง หรืออาจจะเกิดฉากทัศน์เลวร้ายที่สุดเมื่อรัสเซียส่งทหารชุดใหม่เข้ายูเครนหลังจากใช้เวลาฝึกนาน 1 เดือน อย่างไรก็ดี แม้มีการบรรลุข้อตกลงสันติภาพได้ การปะทะประปรายจะยังคงเกิดขึ้นไปอีกราว 1 ปี

ที่ปรึกษายูเครนคาดการณ์ดังกล่าวในขณะที่การเจรจาระหว่างยูเครน-รัสเซียรอบล่าสุดเมื่อวานนี้ยังไม่บรรลุผลใด ๆ นอกจากเรื่องเส้นทางมนุษยธรรมให้คนอพยพออกจากเมืองในยูเครนที่ถูกปิดล้อม

อย่างไรก็ตามหากวิกฤติทั้ง 2 ประเทศ ยังคงยืดยื้อไปจนถึงต้นเดือนพ.ค. ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพความลำบากของประชากรทั่วโลกมากขึ้น ที่ต้องเผชิญภาวะทางเศรษฐกิจในอีกหลายเดือน และอาจจะกระทบภาพรวมของนานาประเทศด้วย