โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี Fitch คาดการณ์ ผลประกอบการของบริษัทไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดปี 2565 นี้ เดินหน้าเร่งขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยอย่างยั่งยืน
วันที่ 14 มี.ค.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลการรายงานผ่านงานสัมมนาแนวโน้มธุรกิจไทย ปี 2565 (2022 Thailand Corporate Credit Outlook) และยินดีผลการคาดการณ์ของบริษัท Fitch Ratings (ประเทศไทย) จำกัด ว่าผลประกอบการของบริษัทในประเทศไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง
ในปี 2565 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเริ่มเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้บางภาคธุรกิจจะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อันดับเครดิตของบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังมีเสถียรภาพ บริษัทในประเทศไทยที่ Fitch จัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่ มีการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างรอบคอบ ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการลงทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น
นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมดำเนินนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยนายกรัฐมนตรีได้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดูแลกลุ่มเปราะบาง และมองไปข้างหน้าเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพื่อประเทศและประชาชนไทย
ผลการรายงานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อภาคธุรกิจไทย รวมไปถึงวิสัยทัศน์การดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เดินหน้ามาอย่างถูกทาง รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพให้ได้มากที่สุดเพื่อขับเคลื่อนและรองรับการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น
-การขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
-การส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ
-การส่งเสริมการแข่งขันของประเทศ และ
-การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นต้น
ตลอดจนการมุ่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยต้องควบคู่ไปกับมาตรฐานทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นการวางรากฐานแก้ไขปัญหาทุกด้านอย่างมีศักยภาพ ครอบคลุม และครบถ้วน
ด้านนายเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดอันดับเครดิตภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลประกอบการของบริษัทไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2565 จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเริ่มเปิดประเทศ
ขณะที่ ธุรกิจโรงแรม การบิน และค้าปลีก ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และมาตรการจำกัดการเดินทางในปี 2564 น่าจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าธุรกิจอื่น
ทั้งนี้ ต้นทุนพลังงานที่สูงยังเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตของกำไรของธุรกิจต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปี 2565 โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (Small power producers) ที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้อุตสาหกรรมในสัดส่วนที่สูง
อย่างไรก็ดี บริษัทไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่มีการบริหารจัดการกระแสเงินสดอย่างรอบคอบในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โดยมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายลงทุน และการปรับลดอัตราการจ่ายเงินปันผล ขณะที่การเข้าซื้อกิจการกลับเพิ่มมากขึ้น เพื่อฉวยโอกาสในการขยายธุรกิจ หรือการดำเนินการตามแผนการลดปริมาณการใช้คาร์บอน โดยการเข้าซื้อกิจการเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมเป็นหลัก ส่งผลให้บางบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของผลประกอบการจะช่วยลดผลกระทบจากการลงทุนและการจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นในปี 2565