วิกฤตสงครามยูเครนยังยืดเยื้อไม่จบง่าย เพราะเบื้องหลังมีมหาอำนาจสหรัฐคอยปั่นให้จบยาก ส่งผลการเจรจาหลายครั้งล้มเหลว ปัญหาหมักหมมที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน ราคาน้ำมันแพงตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สงครามก็ยังไม่ได้แก้ไข ซ้ำเติมด้วยการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างไม่ลืมหูลืมตา ได้ส่งผลสะเทือนระบบการเงิน การค้าขายทั่วโลก คลื่นวิกฤตเศรษฐกิจในวงกว้างกำลังก่อตัว สภาวะการณ์นี้ย่อมกระทบถึงไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานพยายามตรึงราคาน้ำมันและก๊าซให้อยู่ในเกณฑ์ประชาชนยังสามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ
ล่าสุดกระทรวงพลังงานออกมาแย้มแล้วว่า เรื่องตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ 30 บาทก็พยายามทำจนกว่าจะอั้นไม่ไหว ส่วนก๊าซหุงต้มครัวเรือนถัง 15 กก.กดไม่อยู่แล่วจำเป็นต้องปล่อยให้ขึ้นถัง.ละ 15 บาท
วันที่ 11 มี.ค.2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เบื้องต้นรัฐจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี (LPG) ภาคครัวเรือน 15 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม(กก.) หรือขึ้นกก.ละ 1 บาท มาอยู่ที่ 333 บาท/ถัง 15 กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 318 บาท/ถัง 15 กก.
อย่างไรก็ดี จะยังคงช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.5 ล้านคน ที่ 45 บาท/ถัง 15 กก./3 เดือน และยังคงตรึงราคาขายปลีกดีเซลในประเทศไไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรต่อไป จนกว่าเงินจะหมด
ส่วนความชัดเจนที่จะตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตรนั้น ต้องเรียนว่าคงไม่ชัดเจน เพราะสถานการณ์ผันผวานมากในเวลานี้ กระทรวงฯไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ระหว่างนี้ยังมีวงเงิน 40,000 ล้านบาท ที่ใช้ดูแลสถานการณ์ชั่วคราวกันไป
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากราคาน้ำมันดิบลง ก็ไม่จำเป็น แต่ถ้าราคาสูงขึ้น 170 เหรียญสหร้ฐ/บาร์เรล ก็ต้องมีมาตรการอื่นดูแล เป็นธรรมชาติในเหตุการณ์ที่ผันผวน
ดังนั้น หากจะให้มีคำตอบที่ชัดเจนคงจะลำบาก เวลามองว่าไม่ได้เป็นลักษณะบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความผันผวน สื่อมวลชนต้องทำความเข้าใจ
“หากถามว่าถ้าเงิน 40,000 ล้านบาทหมด แล้วจะทำอย่างไรต่อ ก็ต้องรอ ระหว่างนี้ต้องประหยัด และอยู่ในสภาพนี้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รัฐบาลจะพยายามตรึงภายใต้กรอบวงเงินที่มีอยู่ ถ้าทุกคนประหยัดก็ตรึงได้นาน ถ้าราคาลดลงปกติ ยิ่งตรึงได้นานขึ้นอีก”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ศึกษาแนวทางรับมือวิกฤตราคาพลังงาน หากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนยืดเยื้อรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นผันผวนรุนแรงต่อเนื่อง
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 ขึ้นตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้นเกินกว่าสมมติฐานที่ประมาณการราคาน้ำมันดิบไว้ไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่งผลให้ค่าเอฟทีที่สะท้อนต้นทุนจริงเพิ่มขึ้นไปเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได 16.71 สตางค์/หน่วย อย่างไรก็ตาม กกพ. จะพยายามบริหารจัดหาเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าก๊าซมาผลิตไฟฟ้า เพื่อประคองค่าเอฟทีให้ปรับขึ้นไม่เกินกรอบที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า กรมได้มีการประสานไปยังโรงกลั่นทุกแห่ง ยืนยันมีแผนบริหารจัดหาปริมาณก๊าซธรรรมชาติเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ 66 วัน หรือประมาณ 2 เดือน แบ่งเป็นปริมาณน้ำม้นดิบสำรอง 5,686.44 ล้านลิตร และปริมาณน้ำมันสำเร็จรูป 1,703.61 ล้านลิตร
รวมกับปริมาณนำเข้าน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) 636 ล้านลิตร ขณะที่ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้น้ำมันดิบเฉลี่ย 123.25 ล้านบาร์เรล/วัน ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ย 119.88 ล้านลิตร/วัน
“กรมได้เตรียมมาตรการรองรับวิกฤตพลังงาน โดยได้ประสานผู้ค้าน้ำมัน เพื่อเตรียมประกาศเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย ให้ปริมาณน้ำมันดิบสำรองเพิ่มเป็น 5% จากเดิม 4% และน้ำมันสำเร็จรูปสำรองเพิ่มเป็น 2% จาก 1% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากผู้ค้าน้ำมัน คาดว่าจะมีข้อสรุปภายใน 1 สัปดาห์ โดยยอมรับว่าการเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันทุก 1% ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศเพิ่มขึ้น 60 สตางค์/ลิตร”
นายวิศักดิ์ วัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนมีสถานะติดลบประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีเงินกู้ 30,000 ล้านบาท เข้ามาช่วงเดือนพ.ค.2565 ซึ่งระหว่างนี้กองทุนยังมีกระแสเงินสดสามารถใช้ดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท ถึงช่วงเดือนพ.ค.2565 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบ 115 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่มีเงินไหลเข้ากองทุน 2,700-3,000 ล้านบาท/เดือน แต่มีเงินไหลออกประมาณ 30,000 ล้านบาท/เดือน