ฝันสลายแผนฟื้นฟู???!!เปิดแผลทุจริต-ซ่อนตัวเลขเช่าเครื่องบิน ทำทีมฟื้นฟูระส่ำ จะสำเร็จใหม??

2108

คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูบมจ.การบินไทย เตรียมสอบสัญญาเช่าเครื่องบิน 70 ลำที่น่าสงสัยเรื่องทุจริต  พอขยับตรวจสอบเชิงลึก ก็เริ่มเห็นเค้าลางขัดแย้ง แม้ผู้บริหารบินไทยมาปฏิเสธ สาธารณชนก็จับตามองไปเรียบร้อย

จากการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูการบินไทยที่ใกล้เส้นตายมากขึ้น เพราะต้องจัดทำร่างแผนฟื้นฟู เพื่อใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ส.ค.2563  และปมความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมจัดทำแผนดังกล่าว  จึงเกิดกระแสปรับเปลี่ยนบอร์ดฟื้นฟูบางคน ชูนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC  มาทำงานแทน เพื่อผลักดันให้การจัดทำแผนมีความราบรื่นและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเดินไปสู่โหมดการฟื้นฟูกิจการได้อย่างแท้จริง จริงหรือไม่ยังไม่มีคำตอบ

คณะกรรมการแผนฟื้นฟูมีจำนวนทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน,พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค,บุญทักษ์ หวังเจริญ,ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ และ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล เกิดปมปัญหาเรื่องการจ้างที่ปรึกษาชุดเก่า บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่มีการจ้างก่อนที่บอร์ดทั้ง 6 คนจะเข้ามาทำหน้าที่ครบทีม เกิดปัญหาในการทำงานที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่เข้ากันและแก้ปัญหาด้วยการจ้างที่ปรึกษาเพิ่ม แทนที่การทำงานจะราบรื่นขึ้น กลับเกิดความสับสนและซ้ำซ่อนเพิ่มขึ้น บรรยากาศความขัดแย้งในที่ประชุมจึงหลุดมาสู่สาธารณชนในที่สุด

นับตั้งแต่คณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้อนุมัติแผนฟื้นฟูของ บมจ.การบินไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2563 แผนใหญ่มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

แผนปฏิบัติการ “Shrink to Growth” หรือ “หดตัวเพื่อเติบโต” ซึ่งหมายความว่า ในระยะสั้น จะใช้วิธีหดตัวเพื่อหยุดการขาดทุนหยุดเลือดไหล แล้วพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขข้อผิด ปรับปรุงข้อด้อย เมื่อกลับมาแข็งแรงพร้อมแข่งขัน ค่อยกลับมาขยายตัวเติบโตอีกครั้ง

– จะลดกำลังการผลิตลง 15-20% โดยเฉพาะเลิกบินเส้นทางที่ไม่มีทางมีกำไร ลดเที่ยวบินบางเส้นทาง เพิ่มส่วนที่กำไรดี

– ขายเครื่องบิน ชุดแรก 22 ลำ และตามอีก 20 ลำ ปรับลดจาก 11 แบบ ให้เหลือ 8 แบบ (ควรลดอีกเหลือ 5-6 แบบเท่านั้น) เครื่องบางรุ่นควรเลิกใช้ (เช่น Boeing 747)

– ลดพนักงานลง 20% ประมาณ 5,000 คน เพื่อให้เหมาะกับ capacity ใหม่ และลดไขมันเดิม (ถ้าเอาเปรียบเทียบกับสายอื่นจริง ควรลด 9,000 คนด้วยซ้ำ)

– ปรับปรุงวิธีขายตั๋วให้มีประสิทธิภาพ และลดต้นทุน หมายถึงพึ่งเอเย่นต์ตัวแทนห้น้อยลง ปรับปรุงการตลาด

– ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น พวก non-core เช่น หุ้นโรงแรม หุ้นนกแอร์ ที่ดินที่ใช้ประโยชน์น้อย 

– ในระยะต่อไป ต้องปรับปรุงทุกด้าน เช่น ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบ IT การวางแผน งานช่าง ฯลฯ ต้องรื้อข้อต่อที่เคยเป็นคอขวดทั้งหมด

หากวัดผลงานดูจากแผนงานข้างต้น ป่านนี้น่าจะได้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนว่า ทีมงานฟื้นฟูได้ทำอะไรสำเร็จไปตามแผนแล้วบ้าง แต่ที่ผ่านมามีแต่รายงานประเด็นย่อยที่ไม่ได้ตอบคำถามทางยุทธศ่าสตร์ว่า สาเหตุที่แท้จริงของการล่มสลายของสายการบินแห่งชาติคืออะไร -บริหารผิดพลาด-ตัดสินใจผิด-หรือเพราะทุจริต…

เมื่อระยะเวลาการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูการบินไทยใกล้เส้นตายมากขึ้น เพราะต้องจัดทำรายละเอียดร่างแผนเพื่อใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง และต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ส.ค.2563 ก็เริ่มมีเค้าลางข่าวความขัดแย้งภายในทีมฟื้นฟูปรากฏขึ้นในหลายกรณี

1.ความเห็นต่างระหว่างนายปิยสวัสดิ์ และนายพีระพันธ์ เรื่องที่ปรึกษา

นายปิยสวัสดิ์ สนับสนุนว่าการนำเสนอ ของ Seabury ดีกว่า แมคคินซีย์ ส่วนนายพีระพันธุ์ มองว่าแมคคินซีย์ ลงรายละเอียดชัดเจน และมีข้อมูลแน่นกว่า แถมยังคิดค่าที่ปรึกษาถูกกว่าคือ17.5 ล้านบาท ขณะที่ Seabury เสนอราคามา 80 ล้านบาท พวกค่าบริการเพิ่มอีก 5 % ในช่วงทำแผน 7 ปี บอร์ดจึงเลือกแมคคินซีย์ในที่สุด

2.การพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของการบินไทย

ในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(EVP) ได้แก่ นายณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี ,นางสุวิมล บัวเลิศ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคล และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายบริหารงานกฎหมาย และบริหารทั่วไป ซึ่งฝั่งทางนายพีระพันธุ์ มองว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพราะมีการทำงานที่ผิดพลาด มีพฤติกรรมโยนความผิดให้บอร์ด และปิดบังตัวเลขทางบัญชีที่แท้จริง นอกจากนี้ยังไม่ดำเนินการไปเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ ฯลฯ

3.ปัญหาสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน ฝูงบินทั้งหมด 100 ลำ ทำการบิน 50-60 ลำเป็นกรรมสิทธิ์ของ การบินไทย 30 ลำ ปัจจุบันติดสัญญาเช่า 70 ลำ

-เช่าทางการเงิน (Financing Lease) -31 ลำเป็นเงิน 97,449 ล้านบาท

-เช่าดำเนินงาน (Operating Lease)-39 ลำเป็นเงิน 47,797 ล้านบาท

ซึ่งทางทีมฟื้นฟู ต้องการเข้าไปตรวจสอบ และส่วนหนึ่งในการจัดซื้อเครื่องบิน เกิดขึ้นในยุคนายปิยสวัสดิ์ เป็นดีดีการบินไทย จำนวน 50 กว่าลำ

อย่างไรก็ตาม นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธข่าวความขัดแย้งว่าไม่เป็นความจริง 

………………………………………..