จีนว๊ากสหรัฐ??แส่ยุไต้หวันไม่เลิก ไบเดนส่งทีมปลอบบริวาร ขณะไต้หวันสะท้านปัดพัลวันไม่เหมือนยูเครน

1049

สถานการณ์ดุเดือดในยูเครน ถูกสหรัฐและอังกฤษโยงมาถึง สถานการณ์ในเอเชียกรณีไต้หวันอย่างโจ่งแจ้ง ที่รบก็รบกันไปที่ดินแดนยุโรป ที่เอเชียก็อย่าได้คิดว่ายังไกลตัว เพราะล่าสุด ปธน.โจ ไบเดน ยังคงท้าทายจีนกรณีไต้หวันอย่างไม่ลดละ ส่งคณะตัวแทนที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายมาเยือนกรุงไทเป เพื่อยั่วโทสะจีน ขณะเดียวกันก็ได้ส่งสัญญาณปลอบขวัญกำลังใจ ว่าสหรัฐยังเคียงข้างสนับสนุนอยู่ เมื่อกระแสข่าวเปรียบเทียบกรณีไต้หวันกับยูเครน เป็นกรณีตัวอย่างที่จะประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน ทำให้ทางการไต้หวันต้องแถลงค้านว่าเอาไปเปรียบเทียบไม่ได้ ด้านจีนโวยสหรัฐท้าทายไม่เลิก เย้ยส่งใครมาสนับสนุนก็มีแต่จะล้มเหลวและต้องพ่ายแพ้ในที่สุด

วันที่ 1 มีนาคม 2565 สำนักข่าวโกลบัลไทมส์และรอยเตอร์รายงานว่า การเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนรัฐบาลไบเดนในครั้งนี้ เกิดในช่วงเวลาที่ทั่วโลก

ตึงเครียดกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน  แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐและอังกฤษก็ทำให้ไต้หวันเพิ่มวิตกกังวลมากขึ้น โดแถลงโยงเรื่องยูเครนมาใส่จีนอีกว่า ไต้หวันจะเป็นรายต่อไป ที่จะถูกจีนบุกยึด

คณะตัวแทนของสหรัฐชุดนี้ นำโดยไมค์ มุลเลน อดีตพลเรือเอกที่เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐและทำงานให้ทั้งรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และบารัค โอบามา เดินทางมาถึงกรุงไทเปในวันอังคารที่ผ่านมา  คนอื่นในคณะได้แก่ เมแกน โอซุลลิแวน อดีตรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของบุช, มิเชล ฟลอร์นอย อดีตรัฐมนตรีช่วยกลาโหมสมัยโอบามา, ไมค์ กรีน และอีวาน เมเดียรอส สองอดีตผู้อำนวยการอาวุโสด้านเอเชียของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เจ้าหน้าที่สหรัฐผู้หนึ่งบอกกับรอยเตอร์ว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้มีเจตนาเพื่อแสดงให้เห็นการสนับสนุนที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของสหรัฐต่อไต้หวัน

คณะนี้จะเข้าพบประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ในวันพุธ โดยไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ สมัยอดีตปธน.ทรัมป์ ก็จะมาถึงไต้หวันด้วยในวันเดียวกัน โดยเป็นการเดินมาเองต่างหากในฐานะพลเรือน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ไฟลท์เรดาร์24( FlightRadar24) เผยให้เห็นเส้นทางการบินของเที่ยวบินนี้ว่า เป็นการเดินทางจากกรุงวอชิงตัน ผ่านเมืองแองเคอเรจของอะแลสกา ผ่านเกาะริวกิวชองญี่ปุ่น จากนั้นมายังไทเปโดยบินเข้าทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งห่างไกลจากจีน แทนการเลือกเส้นทางบินปกติที่จะผ่านทะเลจีนตะวันออก

ด้านจีน ได้ออกมาตอบโต้พฤติกรรมของสหรัฐ โดยหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า เจตจำนงของประชาชนชาวจีนในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของประเทศเรานั้นไม่เปลี่ยนแปลง ใครก็ตามที่สหรัฐส่งมาแสดงความสนับสนุนไต้หวันจะต้องล้มเหลว

เขากล่าวถึงกรณีที่เรือรบของสหรัฐลำหนึ่งแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาด้วยว่า หากสหรัฐพยายามข่มขู่และกดดันจีนด้วยสิ่งนี้ พวกเราก็ต้องบอกกับพวกเขาว่า เมื่อเผชิญหน้ากับกำแพงเหล็กแห่งเมืองจีนที่หลอมขึ้นโดยประชาชนชาวจีน 1,400 ล้านคน การป้องปรามทางทหารใดๆ ก็เป็นเพียงแค่เศษเหล็ก กลเม็ดของการส่งเรือรบสหรัฐแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันควรปล่อยให้เป็นเรื่องของพวกที่เชื่ออย่างโง่เขลาเรื่อง ความเป็นเจ้าโลกแต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นความหลงผิด และสำคัญผิดโดยแท้

ด้านจู เฟิ่งเหลียน (Zhu Fenglian)โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันภายใต้สภาแห่งรัฐของจีน กล่าวว่า ไม่มีการดำเนินการใดที่สนับสนุนไต้หวันสามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และไม่สามารถหยุดกระบวนการรวมชาติของจีนได้  

จูกล่าวว่า การเพิ่มความกล้าหาญให้กับไต้หวัน โดยการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังภายนอก จะไม่ทำให้เกิดความมั่นคงหรือความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวไต้หวัน และจะทำให้ไต้หวันกลายเป็นกองกำลังภายนอกที่ต่อต้านจีน และเร่งเวลาแห่งการล่มสลาย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนให้เร็วขึ้นในที่สุด

ด้านทางการไต้หวัน ประธานาธิบดี ไช่ อิง-เหวิน และนายกรัฐมนตรี ซู่ เสิง-ชาง ต่างออกมาประกาศย้ำกับกระทรวงและหน่วยงานรัฐทั้งหลายให้เร่งพยายามหาทางรับมือกับ “แรงกดดันจากภายนอกที่ใช้กรณีความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย เพื่อทำสงครามทางความคิด (cognitive warfare) ต่อไต้หวัน” และกล่าวว่านับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครนมา ไต้หวันไม่ได้ตรวจพบการเคลื่อนไหวทางทหารจีน และได้สั่งการให้มีการระวังภัยเรียบร้อยแล้ว 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปี การเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อเดือน ก.พ. 2515 สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้นำสหรัฐคนแรก ที่เยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ระหว่างยังอยู่ในวาระ และการลงนามแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Communique) ซึ่งเป็นแถลงการณ์ร่วมฉบับแรก ที่ลงนามโดยจีนและสหรัฐ กำหนดหลักการสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะหลักการจีนเดียว ซึ่งกลายเป็นรากฐานทางการเมืองสำหรับการปรับปรุงความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต