จากที่ เครือข่ายภาคประชาชนจำนวน 1,867 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองกำกับควบคุมองค์กรภาคประชาชนนั้น
ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาบางช่วงที่น่าสนใจว่า เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน “ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ”
การเสนอร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ของรัฐบาล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรและองค์กรภาคประชาชนทั่วประเทศที่ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ขาดธรรมาภิบาล ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีเถยจิตแอบแฝง มีความเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน จึงต้องควบคุมเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอ เพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว
ด้วยเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การชุมนุมสาธารณะ การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำนั้นๆได้โดยไม่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้
สิทธิเสรีภาพดังกล่าวนี้ได้ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมทั้งฉบับปัจจุบัน ทั้งยังระบุในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ที่สามารถกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะอย่างมีเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่ปลอดจากความกลัว ปลอดจากความหิวโหย และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันถือเป็นการสร้างสมดุลทางอำนาจระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในการจัดสรรทรัพยากรของสังคมอย่างสมดุล เท่าเทียมและเป็นธรรม
เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ปฏิเสธการถูกตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส แต่เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างถึงที่สุด จนกว่าจะมีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ทั้งนี้จะมีการนัดหมายองค์กร/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศที่ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว 1,800 กว่าองค์กร ให้ออกมาคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้
ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป โอกาสนี้จึงขอเรียกร้องไปยังกลุ่ม/องค์กร ภาคี/เครือข่ายภาคประชาชนทั่วทุกภูมิภาค ได้ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองในการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ร่วมกับพวกเราโดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับ เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านต่างๆ ได้แก่ เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ เครือข่ายองค์กรคนพิการ เครือข่ายด้านเด็กและครอบครัว เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายองค์กรผู้หญิง เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายชุมชนเมือง/สลัมสี่ภาค เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานในระบบ
เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน/ความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายด้านชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายสิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายนักวิชาการด้านสังคม และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช) จำนวน 1,867 องค์กร
ขณะที่นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า
“ฉิ…หายแล้วพี่น้อง ประเทศไทยของเรามีองค์กร NGO เกือบ 2000 องค์กร ในจำนวนนี้ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่รับเงินจากต่างชาติเพื่อประโยชน์ของต่างชาติ วันนี้เปิดตัวออกมาคัดค้านร่างกฎหมาย ที่ควบคุมตรวจสอบการรับเงินต่างชาติของ NGO อย่าทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเลยครับ เมื่อจะรับเงินต่างชาติทำงานให้ต่างชาติก็ควรจะยอมรับการตรวจสอบจากรัฐ”
นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า กลุ่มที่ออกมาคัดค้านดังกล่าวนั้น ส่วนหนึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีบาปของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่งภาษีบาป ก็คือ เงินที่รัฐเก็บได้จากการขายสุรา (เหล้า, เบียร์) และยาสูบนั่นเอง