“อัยการดัง” ขยับตัวเร็ว ชี้ชัดๆ “พลังประชารัฐ” ขับไล่ “ก๊วนธรรมนัส” ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกยุบพรรค

1265

ต้องจับตามอง อย่างใกล้ชิด!? “อัยการ” ขยับตัวเร็ว ชี้ชัดๆ “พลังประชารัฐ” ขับไล่ “ก๊วนธรรมนัส” ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกยุบพรรค!?

กำลังเป็นประเด็นที่หลายๆคนต่างจับตามอง นั่นก็คือ มติพรรค พปชร. กรณีขับ 21 ส.ส.กลุ่มธรรมนัส นั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ส่งผลให้ถูกยุบพรรคหรือไม่

ล่าสุดทางด้านของ ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็น

ข้อกฎหมายว่าด้วย มติพรรค พปชร. กรณีขับ 21 ส.ส. : ร.อ. ธรรมนัสและพวก
ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบมติพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ให้ขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ ส.ส. ของพรรค รวมจำนวน 21 คน ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

และกรณีที่นายสมัย รามัญอุดม ซึ่งอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรค พปชร. พร้อมพวก ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 อ้างว่า มติของพรรค พปชร. ที่ให้ขับ ส.ส. ของพรรค พปชร.รวม 21 คนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ กกต. จะประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น

ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมาย ในเรื่องมติพรรค พปชร.ที่ให้ขับ ส.ส. ของพรรคจำนวน 21 คน ว่าจะถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของพรรค พปชร. หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมายแก่ผู้สนใจ โดยไม่มีเจตนาและวัตถุประสงค์ที่จะสนับสนุนหรือเข้าข้างพรรคการเมืองหรือขั้วการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทั้งสิ้น ดังนี้

ถ้าพิจารณาดูจาก รัฐธรรมนูญ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และข้อบังคับพรรค พปชร. พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะพบว่า การที่พรรค พปชร. มีมติขับ ส.ส. จำนวน 21 คน ออกจากพรรค ไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและข้อบังคับของพรรค พปชร. ด้วยเหตุผลดังนี้

1. การประชุมเพื่อมีมติขับ ส.ส. ไม่ใช่กิจการตามข้อบังคับพรรคข้อ 40 ที่ต้องดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค ดังนั้น จะเอาเรื่องข้อบังคับพรรคในเรื่องการประชุมใหญ่พรรคการเมือง ในส่วนที่เป็นเรื่ององค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่พรรคการเมืองตามข้อ 37 และ 38 ที่องค์ประชุมจะต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค ผู้แทนของสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิกพรรคการเมือง ตามจำนวนที่กำหนด และการเรียกประชุมใหญ่ตามข้อ 41 ที่จะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน มาใช้บังคับไม่ได้

นอกจากนี้ องค์ประชุมใหญ่ของพรรค ยังต้องประกอบไปด้วยบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ ส.ส.รวมอยู่ด้วยดังที่กล่าวไป ได้แก่ ผู้แทนสาขาพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และสมาชิกพรรค รวมอยู่ด้วย ซึ่งเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญ และ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ กำหนดตัวบุคคลผู้มีสิทธิลงคะแนนขับ ส.ส. ของพรรค เอาไว้ ซึ่งมีเพียงแค่กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ของพรรคเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงมติให้ ส.ส. ออกจากพรรคได้ ดังนั้น ด้วยเหตุดังกล่าวมา การที่พรรค พปชร. ลงมติขับ 21 ส.ส. จึงไม่ต้องกระทำโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรค

2. ตามที่เกิดประเด็นถกเถียงว่า มติพรรค พปชร. ที่ให้ขับ 21 ส.ส. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อาจจะเป็นเพราะเนื่องจากข้อบังคับพรรค พปชร. ไม่ได้เขียนหลักเกณฑ์การเรียกประชุมเพื่อขับ ส.ส. ออกจากพรรคไว้ ทำให้มีผู้สงสัยและมีความไม่แน่ใจในเรื่องนี้

ส่วนการลงมติขับ ส.ส. ออกจากพรรค ไม่น่าจะเป็นประเด็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) และ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 27 วรรคท้าย กำหนดไว้ชัดเจน ว่า การที่พรรคการเมืองจะมีมติขับ ส.ส. ออกจากพรรค ต้องใช้มติ 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมของกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ของพรรค

3. สมมติว่า ต่อให้พรรค พปชร. ทำผิดข้อบังคับพรรคในเรื่องการมีมติขับ ส.ส. ออกจากพรรค ก็ไม่น่าจะมีความผิดตามกฎหมายถึงกับต้องถูกยุบพรรค เพราะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่จะต้องถูกยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 92 หากพรรค พปชร. ยังคงยืนยันที่จะมีมติขับ ส.ส. ทั้ง 21 คนออกจากพรรค ก็เพียงแค่จัดประชุมใหม่เพื่อลงมติขับ ส.ส.ให้ถูกต้องตามข้อบังคับพรรค

4. ข้อบังคับพรรค พปชร. ไม่ได้กำหนดกระบวนการและวิธีพิจารณาในกรณีที่พรรคจะมีมติให้ ส.ส. ออกจากพรรค เพราะกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่นตามข้อ 54 (5) ไว้ การที่มีผู้กล่าวว่า การที่พรรค พปชร. จะลงมติขับ ส.ส. ออกจากพรรคได้จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องนี้ก่อนนั้น จึงเป็นการกล่าวในสิ่งที่ข้อบังคับพรรค พปชร.ไม่ได้กำหนดไว้

ข้อบังคับพรรค พปชร. ข้อ 54 (5) กำหนดไว้แต่เพียงว่า เมื่อพรรคมีมติให้ออกเพราะเห็นว่าเข้ากรณีตามข้อ 54 (5) คือ กระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่น

ดังนั้น จึงต้องมาดูว่า “พรรค” ที่จะมีมติให้ ส.ส. ออกจากพรรค หมายความถึงใคร
ซึ่งความหมายของคำว่า “พรรค” นี้ คงน่าจะต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้มีสิทธิลงมติขับ ส.ส. ออกจากพรรคตามกฎหมายด้วย ซึ่งก็มีเพียงแค่กรรมการบริหารพรรคและ ส.ส. ของพรรค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (9) และ พรป. ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 27 วรรคท้าย เท่านั้น ส่วนการจะให้บุคคลอื่นมามีส่วนร่วมในการลงมติให้ ส.ส. ออกจากพรรคได้ด้วย จึงไม่น่าจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด