เมื่อวันศุกร์ที่ ม.ค.2565 ปธน.วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้โทรศัพท์คุยกับปธน.เอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งกลายเป็นผู้นำชาวตะวันตกรายแรกที่โทร.สายตรงคุยกับผู้นำเครมลินในประเด็นที่มอสโกเพิ่งเรียกร้อง สหรัฐฯ และนาโต้ให้ตอบสนองต่อการรับประกันความมั่นคงแก่รัสเซีย ปูตินชี้ให้เห็นว่าวอชิงตันและNATOกลุ่มทหารที่นำโดยสหรัฐฯ ล้มเหลวในการเจรจาและไม่สนใจพิจารณาข้อกังวลด้านความปลอดภัยของรัสเซียอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเครมลินจะไม่รีบเร่งที่จะตอบสนองท่าทีเป็นลบของสหรัฐ ในทางกลับกัน มอสโกมีแผนอย่างชัดเจนที่จะกดดันชาติตะวันตกด้วยการติดต่อสื่อสารให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่เพิ่มเติมและการผลักดันทางการฑูต-การเจรจาอย่างต่อเนื่อง
ปูตินบอกกับมาครงว่า“ฝ่ายรัสเซียจะทำจดหมายตอบกลับสหรัฐอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อร่างข้อตกลงว่าด้วยการค้ำประกันความมั่นคงที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกาและนาโตเมื่อวันที่ 26 ม.ค.โดยจะทำอย่างรอบคอบ หลังจากนั้นจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร”
ปูตินเปิดเผยว่า “การตอบสนองของสหรัฐฯ และ NATO ไม่ได้กล่าวถึงข้อกังวลพื้นฐานของรัสเซียและ ไม่รับประกันการหยุดการขยายตัวของ NATO และการไม่ใช้อาวุธจู่โจมใกล้พรมแดนของรัสเซีย อีกทั้งไม่หยุดเพิ่มขีดความสามารถทางการทหารและโครงสร้างพื้นฐานของ NATO ในยุโรป โดยจะไม่กลับคืนสู่ที่ที่พวกเขาอยู่ในปี 1997 ครั้งเมื่อมีการลงนามในพระราชบัญญัติการก่อตั้ง NATO-Russiaอย่างที่ควรจะเป็น
ข้อเรียกร้องเหล่านี้และอื่นๆ ถูกนำเสนอในร่างสนธิสัญญาสองฉบับที่รัสเซียส่งผ่านไปยังฝ่ายบริหารของไบเดนและพันธมิตรยุโรปของวอชิงตันในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ในเวลาเดียวกัน ปูตินได้ย้ำถึงการสงวนสิทธิ์ของรัสเซียที่จะใช้“มาตรการทางการทหาร”ตอบโต้หากสหรัฐฯและNATO ยังคงเดินหน้าขยายตัวทางทหารต่อไป ไม่สนใจความกังวลหลักของรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม มอสโกว์ยังคงเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาทางการฑูต เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียจะส่งจดหมายไปยัง 57 ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) รวมถึงสหรัฐฯ เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับจุดยืนของแต่ละประเทศในหลักการ ของ“ความไม่แบ่งแยก”เพื่อการรักษาความปลอดภัยระดับยูโร-แอตแลนติก ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาอิสตันบูลปี 2542 ของ OSCE และปฏิญญาอัสตานาปี 2553
ในคำแถลงของเขาต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ลาฟรอฟ กล่าวว่า
“หลักการนี้ถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบด้วยสองวิธีที่เชื่อมโยงถึงกัน ประการแรกคือเสรีภาพของรัฐในการเลือกพันธมิตรทางทหาร ประการที่สองคือภาระผูกพันที่จะไม่เสริมสร้างความมั่นคงของตนโดยการให้รัฐอื่นต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านความมั่นคงแทน นั่นหมายความว่า เสรีภาพในการเลือกการจัดการด้านความปลอดภัยนั้นถูกกำหนดโดยคำมั่นว่าจะเคารพผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยของรัฐ OSCE อื่น ๆ รวมถึงสหพันธรัฐรัสเซียด้วย”
ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐ วุฒิสมาชิกอาวุโสคนหนึ่งของรัสเซียได้ให้แง่คิดถึงสถานการณ์ระอุกรณียูเครนนี้ว่า ปี2022นี้ จะเป็นปีแห่งวิกฤตระหว่างมอสโกว์และวอชิงตัน และจะยังไม่จบลงจนกว่าการจัดระเบียบโลกใหม่จะเป็นไปตามความต้องการของสหรัฐ คือเป็นมหาอำนาจเดี่ยวครองโลกแต่เพียงผู้เดียว
อเล็กซี่ พุชคอฟ(Aleksey Pushkov) พันธมิตรที่ใกล้ชิดของปธน.ปูติน เขาเคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการการต่างประเทศของรัฐสภารัสเซียหรือสเตทดูม่า (State Duma)ได้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวยูเครนา(Ukraina) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับพลวัตของอำนาจในปัจจุบันในเวทีโลกว่า
“สหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจที่ค่อยๆ สูญเสียตำแหน่งในโลก เมื่อสิ้นปี 2564 พวกเขาประสบความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงในตะวันออกกลาง พวกเขาแพ้ซีเรีย แพ้การต่อสู้ของอัฟกานิสถาน พวกเขาถูกเรียกร้องและบังคับให้ถอนทหารเกือบทั้งหมดออกจากอิรัก”
วุฒิสมาชิกรัสเซียกล่าวว่า “สหรัฐกำลังพยายามรักษาอิทธิพลและอำนาจของพวกเขาด้วยการขัดแย้งกับรัสเซียและจีนไปพร้อม ๆ กัน แม้ว่าจะมีระดับความรุนแรงต่างกันก็ตาม” พุชคอฟตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งนี้สร้างสภาพแวดล้อมที่น่ากังวลทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
“เมื่อสหรัฐฯไม่ถือว่ารัสเซียเป็นอำนาจรองอีกต่อไป แต่สหรัฐถือว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจหนึ่ง และเป็นศัตรู นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาอ้างถึงรัสเซียว่าเป็นปัญหาหลักที่รัฐบาลไบเดนจะต้องจัดการในปี 2022” พุชคอฟฟันธงว่าจะเป็น“ปีแห่งวิกฤตระหว่างวอชิงตันและมอสโกว์”อย่างแน่แท้
“อย่างที่ฉันเข้าใจ ตอนนี้สหรัฐต้องการแกปัญหารัสเซีย นั่นคือเพื่อปราบปรามยุโรปเกือบทั้งหมดให้อยู่ใต้อาณัติ และผลักดันรัสเซียไปอยู่ชายขอบของยุโรป”เขากล่าวว่า “นี่คือสิ่งที่สหรัฐต้องการใช้ยูเครนนำไปสู่ ขั้นต่อไป เมื่อสำเร็จแล้วจะเป็นการเผชิญหน้าทางการเมืองหรือทางการทหารกับจีน”
พุชคอฟย้ำว่า ชนชั้นสูงทางการเมืองและการเงินของสหรัฐอเมริกาเชื่อว่ามีแต่พวกเขาเท่านั้นที่บริหารโลกได้ และไม่ต้องการให้ใครมามีส่วนร่วมเป็นผู้นำ ดังนั้น จนกว่าจะมีการจัดตั้งระเบียบโลกใหม่ขึ้นโดยที่สหรัฐฯ อ่อนแอกว่าและลดบทบาทลงอย่างแท้จริง เราจะมีความขัดแย้งทางการเมืองและการทหารที่รุนแรงกับพวกเขาไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน”