โลกจับตามองซาอุดิอาระเบียในวิถีใหม่ภายใต้การกำกับดูแลโดยพฤตินัยของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารลำดับที่ 1 แห่งซาอุฯ วันนี้ผ่านมา 6 ปีแล้วนับตั้งแต่พระองค์ทรงประกาศ”วิชั่น 2030″ หรือ “วิสัยทัศน์ 2030” เส้นทางการปฏิรูปครั้งสำคัญที่ซาอุดีอาระเบียเริ่มต้นด้วยดีตลอดมา แต่ยังต้องเดินทางอีกยาวไกล ท่ามกลางความท้าทายอีกมากมายในสงครามจัดระเบียบโลกใหม่หรือ The Great Reset ของโลก
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเม.ย.2016/2559 หรือเป็นเวลานานเกือบ 6 ปีแล้ว ที่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทรงเป็นที่รู้จักด้วยพระนามย่อ “เอ็มบีเอส” ทรงประกาศแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูปประเทศ “วิสัยทัศน์ 2030” โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ด้วยการลดการพึ่งพาน้ำมัน การมี “วิชั่น” หรือ วิสัยทัศน์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) มี “วิสัยทัศน์ 2021” “วิสัยทัศน์แห่งชาติ 2030” ของกาตาร์ ขณะที่คูเวตมี “วิสัยทัศน์ 2035” และ “วิสัยทัศน์ 2040” ของโอมาน โดยในเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลักและเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและแรงงานควบคู่กัน
นับตั้งแต่เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานทรงประกาศมาตรการปฏิรูปครั้งใหญ่ หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมาภายในเวลาอันรวดเร็ว เพื่อสังคมที่มีความทันสมัย หัวก้าวหน้า เป็นมิตรกับภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้เอง สามารถไปไหนมาไหนได้เองโดยลำพังมากขึ้น การกลับมาเปิดโรงภาพยนตร์ และในอนาคตเพื่อเพิ่มการดึงดูดนักท่องเที่ยว อาจมีการเปิดโอกาสให้ร้านอาหาร โรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด เป็นต้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนภายนอก แต่สำหรับชาวซาอุดีอาระเบีย “คือเรื่องใหญ่” สถานการณ์แบบนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากกลุ่มคนหนุ่มสาวซึ่งปัจจุบันกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เป็นเรื่องที่แทบไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ว่าจะเกิดขึ้นได้ อาทิ การจำกัดขอบเขตอำนาจของตำรวจศาสนา ซึ่งตอนนี้ไม่มีอำนาจจับกุมประชาชนที่แต่งกายไม่เหมาะสม และเจ้าของสถานประกอบกิจการซึ่งไม่ปิดร้านตามเวลาสวดมนต์ประจำวัน
แม้มีความเปลี่ยนแปลงและมีการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลานานกว่า 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถยืนยันได้ในระดับหนึ่ง ว่าซาอุดีอาระเบีย “เปิดกว้างมากขึ้น” แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังไม่มีสัญญาณว่าจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และเมื่อไหร่คือระบอบการปกครอง “วิถีการกุมอำนาจรัฐ” และ “การตัดสินใจของผู้นำ” เนื่องจากซาอุดิอาระเบียปกครองแบบรัฐเดี่ยว แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อิสลาม
สำหรับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในซาอุดีอาระเบียนั้น ยังไม่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นแบบอื่น หรือเพียงแต่ต้องการเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐเท่านั้น หลายฝ่ายมองว่าในอีกมุมหนึ่งของภาพลักษณ์ทางสังคมที่ยืนยันว่า ซาอุดิฯยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกและอยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนในบริบทเศรษฐกิจ ด้านสังคมที่ค่อยเป็นค่อยไป “การให้คำมั่นสัญญา” ว่าจะลดการใช้บทลงโทษประหารชีวิต จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะ ซาอุดีอาระเบียยังคงติดอันดับ ประเทศซึ่งประหารชีวิตนักโทษมากเป็นลำดับต้นของโลก
แผน ‘Vision 2030’ หรือ ‘วิสัยทัศน์ 2030’ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน ซึ่งมุ่งลดการ ‘พึ่งพาน้ำมัน’ ของซาอุฯ ด้วยการหันไปพัฒนาการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจในมิติอื่นๆ แทน ซึ่งแผนดังกล่าวก็ตั้งเป้าไว้ว่า จะหารายได้ที่ไม่ได้มีที่มาจากน้ำมันให้ได้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านริยาล หรือประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030
แต่การหารายได้ ไม่ใช่เป้าหมายเดียวของวิสัยทัศน์ที่ว่านี้ ‘Vision 2030’ ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือ (1) ‘A Vibrant Society’ หรือการสร้างสังคมให้มีชีวิตชีวา เพื่อเป็นพื้นฐานให้กับความมั่งคั่ง (2) ‘A Thriving Economy’ หรือเศรษฐกิจที่เจริญเติบโต โดยสนับสนุนโอกาสและการจ้างงานให้กับทุกภาคส่วน และ (3) ‘An Ambitious Nation’ หรือการเป็นชาติที่ทะเยอทะยาน ด้วยการสร้างรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้
โครงการที่โดดเด่น ซึ่งเป็นหนึ่งในอภิมหาโครงการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริของมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ตามวิสัยทัศน์ 2030 คือโครงการเมืองแห่งอนาคต “นีออม”(Neom) ตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลแดง ซึ่งมีการทุ่มงบประมาณมากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 16.6 ล้านล้านบาท ) รองรับผู้อยู่อาศัยได้ 1 ล้านคน พร้อมทั้งสร้างงานใหม่อีก 380,000 อัตรา
ยิ่งไปกว่านั้น ระบบการเดินทางภายในเมืองใหม่แห่งนี้ทันสมัยขั้นสุด จะเป็นการเดินทางโดยระบบขนส่งความเร็วสูงแบบเคลื่อนที่อัตโนมัติที่เรียกว่า “เดอะ ไลน์”(The Lines) อย่างไรก็ตาม หนึ่งในขั้นตอนการปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างเมืองนีออม เกิดคำครหาจากสื่อตะวันตกว่า ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่อาศัยอยู่เดิม ต้องกลายเป็นผู้ไร้ถิ่นที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ เจ้าชายโมฮัมเหม็ดทรงมีพระดำรัสว่า ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ “ต้องเป็นยุโรปใหม่แห่งตะวันออกกลาง” ราชอาณาจักรแห่งนี้กำลังก้าวเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไป บนเส้นทางที่ท้าทาย
เหล่านักวิเคราะห์ประเมินว่า “วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030” ยังถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศด้วย ซึ่งซาอุดีอาระเบียได้ค่อยๆลดการพึ่งพามหาอำนาจตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ แล้วหันมาสานสัมพันธ์กับบรรดาประเทศในภูมิภาคตะวันออก เช่น จีน เป็นต้น การลดพึ่งพาการใช้ทรัพยากรน้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าส่งเสริมภาคธุรกิจอื่นๆที่ทันสมัยทั้งกีฬา เอ็นเทอร์เทนเม้น และการท่องเที่ยว ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ซาอุดีอาระเบีย จำเป็นต้องผ่อนคลายความเข้มงวดทางศาสนา และจารีตต่างๆ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยว และกิจการทันสมัยอื่นๆเข้ามาปักหลักในประเทศได้และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม หนทางยังคงอีกยาวไกล มกุฎราชกุมารยังต้องทรงพิสูจน์ให้โลกได้ประจักษ์ และมีความเชื่อมั่นในระยะยาวว่า วิสัยทัศน์ 2030 ของพระองค์ “เกิดขึ้นได้จริง” และยังประโยชน์แก่ชีวิตของประชาชนซาอุดิอาระเบีย ตลอดจนประชากรของกลุ่มประเทศอ่าวอย่างที่ทรงตั้งพระทัย