ผลการสำรวจการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลใน 50 ประเทศทั่วโลกโดยบริษัทนายหน้าซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล BrokerChooser พบว่า อินเดียมีจำนวนผู้ถือครองสกุลเงินดิจิทัลมากที่สุดในโลกที่ 10.07 ล้านคน ตามด้วยสหรัฐ (2.74 ล้านคน) และรัสเซีย (1.74 ล้านคน) แต่วันที่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ความร้อนแรงของคริปโตเคอร์เรนซี่มีด้านมืดที่สุ่มเสี่ยงต่อความม้่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ อินเดีย รัสเซีย แบนเงินสกุลคริปโตฯตามจีนไปติดๆ
วันที่ 21 ม.ค. 2565 สำนักข่าวอินเดียไทมส์ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ (PM Narendra Modi) เรียกร้องให้ทั่วโลกจัดการกับปัญหาที่เกิดจากสกุลเงิน คริปโตเคอร์เรนซี( cryptocurrencies)
Modi กล่าวในการประชุมเสมือนจริงของ World Economic Forum ที่ดาวอสว่า “การจัดการปัญหาของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโตฯ จะใข้การตัดสินใจของประเทศเดียวนั้นไม่เพียงพอ ต่อการรับมือกับความท้าทายของปัญหาด้านความมั่นคง เราต้องมีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศและ จัดการอย่างเป็นเอกภาพจึงสามารถรับมือและควบคุมได้”
โมดิเปิดเผยว่า อินเดียกำลังพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินเสมือน ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ทันในช่วงฤดูหนาวก่อนเดือนธันวาคม ก่อนหน้านี้ นิวเดลีได้แจ้งว่ามีแผนที่จะแบนสกุลเงินดิจิทัลส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับมาตรการล่าสุดของจีนที่เพิ่มการปราบปรามเหมืองคริปโตเคอเรนซีอย่างเข้มข้น
ธนาคารกลางของอินเดียยังแสดง “ความกังวลที่ร้ายแรง” เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยระบุว่าอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน ในอินเดียมีนักลงทุนคริปโตเคอเรนซีประมาณ 15 ล้านถึง 20 ล้านคน โดยมีการถือครองคริปโตทั้งหมดประมาณ 5,390 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามการประมาณการของอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าธนาคารกลางรัสเซียเสนอให้มีการระงับการใช้สกุลเงินคริปโตเคอร์เรนซีและห้ามการทำเหมืองคริปโตฯในรัสเซีย โดยระบุถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน, อธิปไตยของนโยบายการเงิน รวมทั้งความเป็นอยู่ของประชาชน
เอลิซาเวตา ดานิโลวา(Elizaveta Danilova) ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงทางการเงินของธนาคารแห่งรัสเซียระบุว่า การพุ่งขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลในขณะนี้เกิดจากการเก็งกำไร และสกุลเงินดังกล่าวมีลักษณะการทำธุรกรรมเหมือนกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและต่อประชาชน
ธนาคารกลางเสนอให้มีการสั่งห้ามสถาบันการเงินดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโต และควรมีการพัฒนากลไกเพื่อสกัดการซื้อขายสกุลเงินดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินทั่วไปที่มีการใช้กันอยู่ในตลาด รวมทั้งให้มีการระงับการทำธุรกรรมของแพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล
ธนาคารกลางระบุว่า ชาวรัสเซียเป็นกลุ่มที่มีการใช้สกุลเงินคริปโตในระดับสูง โดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี และรัสเซียมีเหมืองขุดคริปโตใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐและคาซัคสถาน
ที่ผ่านมา ทางการรัสเซียมีนโยบายต่อต้านการใช้สกุลเงินคริปโต เนื่องจากมองว่ามีการใช้สกุลเงินดังกล่าวในการฟอกเงินและก่ออาชญากรรมทางการเงิน
ด้วยความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกออกมาดำเนินการควบคุมตลาดเพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยในสัปดาห์นี้ สิงคโปร์ได้แจ้งบริษัทในภาคส่วนดังกล่าวให้หยุดทำการตลาดที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากจะสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนรายย่อย ขณะที่อังกฤษ ก็ห้ามการโฆษณาบริการด้านคริปโตแก่สาธารณชนทั่วไปเช่นกัน เนื่องจากมีข้อมูลวิจัยที่บ่งชี้ว่า ประชาชนยังมีความเข้าใจน้อยเกี่ยวกับแวดวงคริปโต ซึ่งหมายความว่า ผู้บริโภคบางส่วนอาจไม่ได้มีความเข้าใจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่พวกเขาจะเข้าซื้อหรือเข้าไปลงทุน
ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อพยายามปกป้องนักลงทุนรายย่อยจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซีนั้น มีความเสี่ยงสูงและอาจจะไม่เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากอาจมีการปรับตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงจากการเก็งกำไร