มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นทั้งพันธมิตรและขู่แข่งทางการค้าการลงทุน ที่มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกันมาอย่างยาวนาน ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ตอนล่างสุดปลายขวานทอง โดยเฉพาะสิงคโปร์เป็นเมืองท่าที่ครองการคมนาคมขนส่งทางทะเลผ่านช่องแคบมะละกามาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันมีความท้าทายที่กระทบต่อสถานภาพเดิมในการเป็นศูนย์กลางขนส่งทางทะเล เมื่อมีมหาโพรเจ็กต์ของมาเลเซียจ่ออยู่หน้าบ้านซึ่งมีจีนหนุนหลัง แน่นอนขาใหญ่ที่หนุนหลังสิงคโปร์อยู่อย่างอเมริกาย่อมหน้าสั่น เพราะสะเทือนผลประโยชน์
เมืองใหม่มาเลเซียชื่อว่ามะละกาเกตเวย์ (Melaka Gateway) เป็นโครงการระดับยุทธศาตร์หนึ่งแถบและเส้นทางหรือ BRI:Belt and Road Initiative ของจีนที่มุ่งหมายทะลวงเส้นทางขนส่ง-คมนาคมทางทะเลอย่างรอบด้านเพื่อทลายการปิดล้อมของสหรัฐ
โครงการประกอบด้วยท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ โดยจีนเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสิงคโปร์ เพื่อทดแทนบทบาทเมืองท่าเรือที่สิงคโปร์ครองและคุมผลประโยชน์ผ่านช่องแคบมะละกามาโดยตลอด ภายใต้เงาของวอชิงตัน
แนวคิดโครงการเป็นการถมทะเลสร้างเกาะใหม่ขึ้นมา เชื่อมโยง 3 เกาะโดย เกาะทั้งสามนั้น จะแบ่งเป็น เกาะสำหรับการท่องเที่ยว เกาะสำหรับการทำธุรกิจ และเกาะสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
ท่าเรือน้ำลึกเสร็จในปี 2019 ส่วนที่เหลือคาดแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2025 พื้นที่ทั้งหมด 1366 เอเคอร์ มูลค่าเงินลงทุน 4 หมื่นล้านริงกิต หรือ 8 หมื่นล้านหยวน หรือกว่า 4 แสนล้านบาท
จีนหมายมั่นผลักดันมาเลเซีย ช่วงชิงบทบาทคุมเส้นทางขนส่งทางเรือช่องแคบมะละกาจากสิงคโปร์ให้ได้ เพราะตลอดหลายสิบปีที่สิงคโปร์ดูแลและเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากช่องแคบมะละกา ทุกอย่างเป็นไปตามวาระวอชิงตันอย่างโจ่งแจ้ง จะกล่าวได้ว่าสิงคโปร์เป็นนอมินีของสหรัฐก็น่าจะใช่ เพียงตรวจดูรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐก็จะรู้ว่า เศรษฐกิจของสิงคโปร์นั้นที่จริงแล้วใครคุม!
ที่ผ่านมา สิงคโปร์ปิดทางเข้าออกทางทะเลของจีนโดยมีอเมริกาหนุนหลังอย่างโจ่งแจ้ง เมื่อจีนเล่นไม้นี้สิงคโปร์จึงเริ่มเปลี่ยนท่าที ยอมเข้าไปคุยและประกาศร่วมโครงการ BRI กับจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่หากการเปิดเมืองใหม่ “มะละกาเกตเวย์” สำเร็จ มาเลเซียจะสามารถเสียบแทนสิงคโปร์ได้ทั้งหมด ส่วนสิงคโปร์อนาคตคงจะลำบากถ้าไม่ปรับตัว เพราะถ้าไม่มีท่าเรือที่สิงคโปร์
คนสิงคโปร์อาจตกงาน หรือต้องย้ายถิ่นไปทำงานที่มาเลเซียแทน สิงคโปร์ก็จะเงียบเหงาเข้าสู่ขาลงอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง การสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่มาเลเซียจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เพราะมีข้อจำกัดทางธรรมชาติคือร่องน้ำเดินเรือ และนี่อาจเป็นประเด็นที่มหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐพยายามมองหาทางออกในการเชื่อมการขนส่งเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดีย กับน่านน้ำทะเลจีนใต้แทนคอขวดช่องแคบมะละกาอยู่ก็เป็นได้
การช่วงชิงเส้นทางขนส่งทางทะเลจึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่มหาอำนาจสหรัฐและจีนจะต้องแข่งขันชิงความได้เปรียบในทางภูมิรัฐศาสตร์ ผ่านนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่-หนึ่งแถบและเส้นทางของจีน กับนโยบายอินโด-แปซิฟิกที่เปิดกว้างของสหรัฐ ทำให้อาเซียนกลายเป็นสมรภูมิเดือดที่จะถูกรุกไล่ โดยมีเมียนมาเป็นจุดปะทะทางการเมืองการทหารของมหาอำนาจทั้งสองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง และมีจุดพีคที่ช่องแคบมะละกาดังเช่นที่กล่าวไว้ข้างต้น