แบงก์ชาติการันตี!!ศก.ไม่ชะลอ เอกชนฟุ้งส่งออกโตสะบัด 15%คาดปีนี้ไม้ต่ำกว่า 8%

1026

“ธปท.” การันตีเศรษฐกิจไทยไม่ชะลอตัว แจงจีดีพีปี 65 โตได้ 3.4% รับยังเปราะบางฟื้นตัวช้าเหตุท่องเที่ยวสาหัสหนัก ลุ้นโอมิครอนจบครึ่งปี ด้านเอกชนฟุ้งส่งออกปี 64 สุดแกร่งโตกระฉูด 15% คาดปีนี้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5-8% อานิสงส์เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวต่อเนื่อง หวั่นทั่วโลกงัดล็อกดาวน์สู้ และปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคการผลิต อ้อนรัฐช่วยคุมต้นทุนพลังงานด้วยอีกแรง

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังมีความเปราะบาง ฟื้นได้ไม่เร็ว ฟื้นตัวได้ไม่เท่าเทียมกัน ลักษณะ K-SHAPE เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ทำให้คาดว่ากว่าที่ไทยจะกลับมาฟื้นตัวในระดับปกติ คงเป็นช่วงไตรมาส 1/2566 แต่ความรู้สึกของประชาชนยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เพราะรายได้และการจ้างงานยังไม่เหมือนเดิม ขณะที่การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ซึ่งถือเป็นตัวสร้างรายได้และการจ้างงานหลัก

ดังนั้น โจทย์หลักของ ธปท.คือ ทำอย่างไรให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สะดุด ความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดมีอยู่ 4 ปัจจัยคือ 

1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่เบื้องต้นประเมินว่าจะจบภายในครึ่งแรกของปีนี้ และไม่มีสายพันธุ์อื่นระบาดอีก เพื่อให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัว ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.6 ล้านคน โดยก่อนหน้านี้มีการประเมินว่าในกรณีที่เลวร้ายจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงทุกๆ 1 ล้านคน จะกระทบกับจีดีพีลดลง 0.3-0.4% ซึ่ง ธปท.ได้เตรียมความพร้อม เครื่องมือ หรือมาตรการเพียงพอที่จะรองรับหากเกิดเหตุการณ์ยืดเยื้อ

2.อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ค่าครองชีพขึ้นแต่รายได้ไม่ขึ้น ธปท.คาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อปีนี้ที่ 1.7% โดยยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะต้องมีการปรับตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ เพราะยังอยู่ในกรอบ 1-3% ขณะที่ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นนั้น ไม่ได้ขึ้นเป็นวงกว้าง ส่วนใหญ่ปรับขึ้นเป็นจุด เช่น ราคาพลังงาน ราคาหมู ขณะที่เงินเฟ้อระลอก 2 ยังไม่เห็น แต่ ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ หากอัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ต้องมีมาตรการรองรับ

3.การเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ของไทยที่แนวโน้มค่อยๆ เพิ่ม ไม่ได้เพิ่มแบบร้อนแรง เพราะมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เกิดการสะดุด โดยเฉพาะโครงการปรับโครงสร้างหนี้ที่ดำเนินการไปแล้ว และมาตรการร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเกณฑ์จะออกในช่วงปลายเดือน ม.ค.นี้ และ 

4.สถานการณ์โลก หลังจากหลายฝ่ายมองภาพที่หลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็ว ซึ่งอาจทำให้การฟื้นตัวของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทยชะลอตัวลงนั้น ธปท.มองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสะดุดจากปัจจัยดังกล่าวมีน้อยมาก ขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ไม่น่าจะเพียงพอที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสะดุดได้เช่นกัน

ส่วนกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักประเมินว่าไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวร่วมกับเงินเฟ้อสูง (stagflation) นั้น ธปท.ยืนยันว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะดังกล่าว โดยไทยเงินเฟ้อยังต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 3.4% ถือว่าไม่ได้เป็นการเติบโตที่เลวร้ายอะไร

ในวันเดียวกัน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า สรท.ยังคงคาดการณ์ตัวเลขส่งออกไทยในปี 2564 อยู่ที่ 15% โดยคาดว่าในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกจะขยายตัวที่ระดับ 15-16% มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 21,000-22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แต่ยังเชื่อมั่นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะสามารถช่วยลดความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 6-7% มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกในช่วงไตรมาส 1/2565 นั้น ประเมินว่าจะเติบโตที่ 5% ส่วนทั้งปี 2565 ยังคงประเมินว่าการส่งออกจะเติบโตที่ระดับ 5-8% โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ 

  1. เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ฟื้นตัวต่อเนื่อง และอุปสงค์ยังคงทรงตัวในระดับสูง รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลกของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ยังคงทรงตัวอยู่ ระดับ 50 ถึง 60 สะท้อนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมการผลิตและเศรษฐกิจโลก และ 

2.ค่าเงินยังคงมีทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงการลดปริมาณเงินในมาตรการ QE Tapering และแผนปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 3 ครั้งในปี 2565 ของธนาคารกลางสหรัฐ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 

1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลก รวมถึงไทย 

2.การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อการส่งออกที่กำลังฟื้นตัว 

3.ปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือประเทศปลายทาง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถจองระวาง  ตลอดจนค่าระวางเรือยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง และ 

4.ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน

สรท.จึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1.ขอให้ ธปท.รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม 2.ขอให้กระทรวงพลังงานควบคุมต้นทุนพลังงานให้อยู่ในระดับเหมาะสม และ 3.ขอให้กระทรวงแรงงานเร่งช่วยเหลือเรื่องปัญหาการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต โดยกำหนดพื้นที่บริหารจัดการส่วนกลาง หรือศูนย์ One Stop Service (OSS) สำหรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว รวมทั้งอำนวยความสะดวกพื้นที่ในการกักตัว และขอให้รัฐปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนในการนำแรงงานต่างด้าวตาม MOU สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด