นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ปฏิเสธข้อกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐและตะวันตกที่บังคับกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชา รวมทั้ง ห้ามซื้อขายอาวุธแก่กองทัพของประเทศ โดยกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกคว่ำบาตรเหล่านั้นไม่มีทรัพย์สินในธนาคารต่างประเทศ ตัวเขาก็ไม่มี มาตรการเหล่านี้เป็นท่าทีการเมืองกดดันกัมพูชาอย่างไร้เหตุผล ไม่น่าใส่ใจ
มาตรการล่าสุดออกแบบมาเพื่อคว่ำบาตรพนมเปญ เนื่องจากวอชิงตันวิตกความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตื่นตระหนกกับการปรับปรุงฐานทัพเรือรีม ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากจีนบนชายฝั่งทางใต้ของกัมพูชา ซึ่งเกรงว่าจะเป็นการเปิดทางให้กองทัพจีนประจำการบนดินกัมพูชา แม้รัฐบาลกัมพูชาจะปฏิเสธก็ตาม
วันที่ 10 ธ.ค.2564 สำนักข่าวราดิโอฟรีเอเชีย(rfa) เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีฮุน เซน เข้าร่วมงานพิธีเปิดสนามบินแห่งใหม่ ให้สัมภาษณ์ว่า การคว่ำบาตรจากต่างประเทศจะทำให้ชาวกัมพูชาลงทุนในประเทศของตนมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านอสังหาริมทรัพย์
ฮุน เซน กล่าวว่า“การคว่ำบาตรเหล่านี้เป็นเพียงการแสดงท่าทางทางการเมือง” “ฉันมีทรัพย์สินในต่างประเทศด้วยเหรอ? ฉันไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถลงโทษฉัน และสามารถอายัดทรัพย์สินของฉัน และริบทรัพย์สินได้หากต้องการ”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกุย คุง (Kuy Koung) วิพากษ์วิจารณ์การคว่ำบาตรอาวุธของสหรัฐที่ประกาศเมื่อวันพุธกับกัมพูชาเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางทหารของจีนในประเทศ
แถลงการณ์ระบุว่า การคว่ำบาตรใหม่ของสหรัฐฯ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา กุย คุง กล่าวว่า“กัมพูชายึดมั่นในหลักการของความเป็นกลางถาวร และมีสิทธิในอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ตามรัฐธรรมนูญ” “รัฐธรรมนูญของกัมพูชา ไม่อนุญาตให้ทหารต่างชาติประจำการในดินแดนของตน และเราได้ย้ำแล้วว่าไม่มีกองกำลังทหารต่างชาติในกัมพูชา”
มาตรการคว่ำบาตรได้ประกาศร่วมกับที่ปรึกษากระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯเตือนธุรกิจของสหรัฐฯ เกี่ยวกับ “การเปิดเผยข้อมูลที่อาจเกิดขึ้นต่อหน่วยงานในกัมพูชา เช่น กองทัพกัมพูชาและเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทุจริต และพฤติกรรมที่ขัดต่อความมั่นคงของสหรัฐฯในประเด็นอื่นๆ”
การห้ามขนส่งอาวุธครอบคลุมไม่เพียงแค่อาวุธทั่วไป แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ใช้งานสองทาง” ซึ่งเป็นสิ่งของที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์และทางการทหารหรือความมั่นคงของชาติได้
ผู้ผลิตอาวุธของสหรัฐฯ โดยปกติกัมพูชาไม่ได้สั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯอยู่แล้วแต่กฎระเบียบภายใต้การประกาศคว่ำบาตรดังกล่าว ยังมีผลบังคับใช้กับบริษัทและบุคคลที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ด้วย หากสินค้าที่ส่งออกนั้นเป็นของสหรัฐฯ หรือรวมเทคโนโลยี สินค้าโภคภัณฑ์ หรือส่วนประกอบของสหรัฐฯแม้ผลิตโดยประเทศอื่นก็อยู้ในข่ายการแซงก์ชั่นด้วย
ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 กระทรวงการคลังและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของกัมพูชา 2 นาย โดยกล่าวว่า ทั้งคู่สมคบกันเพื่อแสวงหากำไรอย่างผิดกฎหมายจากโครงการก่อสร้างที่ฐานทัพเรือรีม เมืองสีหนุวิลล์
ท่าเรือรีมตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของกัมพูชา ใกล้กับชายแดนเวียดนาม อีกด้านหนึ่งของชายฝั่งทะเลยาว 435 กม. ดาราสาคร – บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย ซึ่งทำให้วอชิงตันเกิดความกังวลเช่นกัน