จากที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ตรวจสอบ แอมเนสตี้ พบว่า “สมาคมแอมเนสตี้ในไทย” ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมใหญ่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกรมการปกครองที่จะเพิกถอนทะเบียนของสมาคม
โดยนายณฐพร ได้การตรวจสอบไม่มีการส่งเอกสารให้กับกรมการปกครองซึ่งก็เท่ากับเป็นการไปแอบอ้าง และไม่ได้ทำตามข้อบังคับของแอมเนสตี้ต่างประเทศที่จะต้องมีความร่วมมือกับรัฐบาล มีความเป็นกลาง
ด้านนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง ได้เปิดเผยว่า ทางนายทะเบียน ที่จดตั้งสมาคม ได้ทำหนังสือไปยัง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้มาพบ เพื่อมาชี้แจงถึงการเคลื่อนไหวและการกระทำว่าผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมหรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ทางแอมเนสตี้จะมาชี้แจงว่าทำผิดระเบียบอะไรบ้าง
ล่าสุดวันนี้ 7 ธันวาคม 2564 มีรายงานถึงผลการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของแอมเนสตี้ ประเทศไทย โดยกรมการปกครอง ที่เปิดเผยเป็นเอกสารลับบางส่วนที่น่าสนใจในความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีดังกล่าวซึ่งมีบางช่วงที่สำคัญระบุว่า
“ผลการตรวจสอบรายงานกิจกรรมในปี 62 และแผนงานการดำเนินการขององค์กรในปี 63 – 64 จากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวการจัดการชุมนุมในห้วงที่ผ่านมาพบว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทย จัดตั้งกลุ่มองค์กรย่อยในการสนับสนุนการชุมนุม อาทิ
กลุ่ม Mob data Thailand เป็นการจัดตั้งอาสาสมัคร เพื่อสังเกตการณ์ชุมนุมในการรวบรวมข้อมูลการกระทำรุนแรงของฝ่ายรัฐ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลรายงานต่อองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
กลุ่ม Child in Mob เป็นอาสาสมัครในการดูแลเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยจัดตั้งขึ้นหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อ 16 ต.ค.63
กิจกรรม Write for Right เป็นการรณรงค์ให้สมาชิกเขียนจดหมายเพื่อให้กำลังใจและกดดันไปยังประเทศ ที่มีบุคคลสำคัญกรณีถูกเลือกให้เข้าร่วมกับกิจกรรมให้มีการยุติการดำเนินคดี หรือเงื่อนไขอื่นๆ ตามการเรียกร้อง โดยในปี 63 ประเทศไทย เสนอชื่อ นายจาตุภัทร บุญภัทรรักษา เป็นบุคคลที่ถูกเลือก และในปี 64 คือ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่เชื่อมโยงกับประเด็นดังกล่าว เพื่อนำรายชื่อไปยื่นเสนอยกเลิก ม.112 ต่อรัฐบาล และรัฐสภาอันเป็นเหตุให้เกิดการขับไล่องค์กรดังกล่าวในปัจจุบัน
แหล่งที่มาของเงินทุนในการทำกิจกรรม เมื่อพิจารณาจากรายงานการประชุมเมื่อ 20 มี.ค. 64 มีการสรุปยอดของรายได้ขององค์กรฯ ในส่วนของรายได้จากการสนับสนุนโดยไม่มีการระบุที่มา มีจำนวนทั้งสิ้น 17,673,668 บาท
ขณะเดียวกันเมื่อนำรายงานผลการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทยในปี 2563 ขององค์กร National Endownment for Democracy (NED) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินการจากสภาคองเกรส มีการระบุในรายงานถึงโครงการที่มีการมอบให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน จำนวน 8 โครงการ โดยมียอดรวมการสนับสนุนคือ 539,200 เหรียญสหรัฐ หรือเมื่อคำนวณเป็นเงินไทยเมื่อใช้อัตราแลกเปลี่ยนในห้วงเดือน ก.ค. 63 คือ 17,266,800 บาท
ซึ่งจากยอดเงินดังกล่าวใกล้เคียงกับยอดรายได้จากการสนับสนุนขององค์กรฯ อย่างมีนัยยะสำคัญ ตลอดจนชื่อและวัตถุประสงค์ของโครงการชี้ให้เห็นว่าอาจเป็นเงินสนับสนุนจาก NED ในการขับเคลื่อนองค์กรตลอดจนทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
ข้อพิจารณา จากการดำเนินการของ แอมเนสตี้ ประเทศไทย แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเห็นต่างและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการล้มล้างการปกครองตามคำวินิจฉัยของศาล รธน.เมื่อ 10 พ.ย.64 ทั้งในประเด็นการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมรณรงค์ และความเชื่อมโยงกันของบุคคลในองค์กร ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวกรณีมีการเตรียมการและสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวในกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชน มาตั้งแต่ปี 62 ซึ่งสะท้อนถึงเจตนาที่แท้จริง นอกเหนือจากการเรียกร้องในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นเพียงหลักการที่กลุ่มฯ มักจะยกมาใช้ เมื่อได้รับกระแสต่อต้านจากสังคม
สำหรับบทบาทของคณะกรรมการฯ ในแต่ละชุดกรณีมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเห็นต่างและกลุ่มการเมืองในปัจจุบันนั้น แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการอย่างมีขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกกรรมการในตำแหน่งต่างๆ อาทิ การวางแผนงานและกำหนดเป้าหมายที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเห็นต่างและกลุ่มการเมืองอย่างเป็นระบบ
ขณะเดียวกันการดำเนินการในรูปแบบของสมาคม มีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยุบเลิกสมาคม โดยอำนาจของนายทะเบียนสมาคมท้องที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากการดำเนินการขัดวัตถุประสงค์ของการจดจัดตั้งตาม ป.แพ่งและพาณิชย์ ม.101 และวัตถุประสงค์ของสมาคมขัดต่อกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือ อาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ตาม ม.102 ก็เป็นได้ ทั้งนี้ หากพบความเชื่อมโยงกับกลุ่มที่มีการสนับสนุนการล้มล้างการปกครองแล้ว จึงต้องพิจารณาติดตาม และตรวจสอบในทุกมิติจากนายทะเบียนฯ
สำหรับการได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศนั้น แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันได้อย่างชัดเจน แต่จากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาของกลุ่มเมื่อเทียบกับโครงการต่างๆ ที่องค์กรเหล่านั้นได้กำหนดเงื่อนไขในการสนับสนุนเงินทุนมีความสอดคล้องกันทั้งในส่วนของแผนงานและยอดงบประมาณ ย่อมสะท้อนถึงความเชื่อมโยงที่ควรมีการตรวจสอบเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเพื่อตัดวงจรการสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าวต่อไป”