หลังจากที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้แถลงข่าวความเห็นแย้งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยว่า 3 แกนนำของกลุ่มราษฎร ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ด้วยการชุมนุมปราศรัย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งคดีนี้ศาลได้อ่านคำวิจฉัยและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา และล่าสุดได้มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็มออกมานั้น ว่า หลังจากได้อ่านโดยละเอียดแล้ว ไม่เห็นด้วยและมีข้อวิจารณ์หลายประเด็น จึงขอใช้เสรีภาพการวิจารณ์โดยสุจริตเพื่อประโยขน์ทางวิชาการและตรวจสอบถ่วงดุลย์การใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยมีเนื้อหาบางช่วงที่น่าสนใจว่าระบุว่า ข้อเสนอประนีประนอมเพื่อหาทางออกร่วมกันกับทุกฝ่าย ฝ่ายแรกคือ กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีการนำเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายเยาวชนคนหนุ่มสาว ประชาชน ที่รวมตัวกันในชื่อ “ราษฎร” จำเป็นต้องปรับวิธีการรณรงค์ วิธีการเรียกร้องเสียใหม่ หากใช้ยุทธวิธีเดิมต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างอะไรกับการเอาหน้าเดินชนกำแพง หากให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง ไม่สามารถใช้พลังของเยาวชนคนหนุ่มสาวเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของสถาบันการเมืองต่าง ๆ ของผู้ถืออำนาจรัฐ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และองคาพยพรายล้อมต่าง ๆ ด้วย
ล่าสุดนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีของนายปิยบุตร ว่า “ไม่ขอเห็นด้วยกับอาจารย์ปิยบุตร
ข้อเสนอของอาจารย์ปิยบุตร เราไม่จำเป็นจะต้องเห็นด้วยหรือมีพลังอำนาจอะไรจะมาต่อรองเจรจาประนีประนอม
1. เพราะมันเลยเวลาที่จะทำการเจรจาประนีประนอมไปแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมเดินเข้าสู่ขบวนการยุติธรรม มีคดีอาญาติดตัวเป็นจำนวนมาก
2. เพราะอาจารย์ปิยบุตรรู้ว่าเกมนี้ฝ่ายตนพ่ายแพ้ แต่ถ้าเป็นฝ่ายชนะคงไม่มีความประนีประนอม ดังเห็นได้จากการโพสต์รัว ๆ ของเขาที่ปารีส
3. การปฏิเสธว่าตนเองต้องการปฏิวัติล้มล้างมากกว่าการปฏิรูป เกิดขึ้นหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และแนวทางของการปฏิวัติตามความเข้าใจของผู้ชุมนุม มันถูกเริ่มต้นแล้ว เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563
4. เพราะอาจารย์ปิยบุตรรักตัวกลัวตาย กลัวขบวนการที่จัดตั้งขึ้นมาพังทลายลงจึงออกมาอธิบายต่อรองเพื่อเดิมเกมต่อ หากแต่คนไทยเขาฉลาดไม่ใช่พวกโง่แบบสองเขาสามกีบที่เคลิบเคลิ้มจนหลงลืมความถูกต้อง
5. ข้อเสนอเป็นเรื่องของตัวบุคคลไม่ใช่ของปวงชนชาวไทย
6. อาจารย์ปิยบุตรตกอยู่ในสภาพหมดเครดิต คือถูกศาลฯเพิกถอนสิทธิการรับสมัครทางการเมือง พรรคที่ตนเองเป็นเลขาธิการถูกยุบ และมีแนวโน้มสูงที่จะต้องคดีอาญาหลายมาตรา
7. ข้อเสนอสามารถกระทำผ่านขบวนการรัฐสภา โดยพรรคก้าวไกลแต่ไม่ทำ เพราะต้องการจะนำเสนอผ่านสังคมโซเชียลสร้างความปั่นป่วน และความขัดแย้ง ถือเป็นบุคคลอันตราย
8. การอ้างเสรีภาพทางวิชาการของอาจารย์ปิยบุตรมักละเมิดสิทธิเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ซึ่งผิดบทบัญัติตามมาตรา 3-4 ในรัฐธรรมนูญ และอาจลุกลามไปถึงมาตรา 108 หมวดความมั่นคง ในประมวลกฎหมายอาญา
9. ข้อเสนอของอาจารย์ปิยบุตรจึงไม่มีคุณค่าอะไรในทางวิชาการเพราะไม่ผ่านการลงประชามติจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย มีลักษณะของการต่อรอง ข่มขู่ ปราศจากความชอบธรรมทั้งทางนิตินัยและในทางที่จะนำไปปฏิบัติ
10. เราควรเลิกเชื่ออาจารย์ปิยบุตรได้แล้ว เพราะเป็นการเสียเวลาและรกสมองไปเปล่า ๆ”