ไทยอย่าช้า!?ออสเตรเลียเล็งออกกม.ใหม่ บังคับแพลตฟอร์มสื่อ เปิดตัวตนผู้โพสต์หมิ่นประมาท

1369

สถานการณ์ในโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จ ข้อความรุนแรง และการหมิ่นประมาทผู้อื่นอย่างไร้สติ ถูกปล่อยปละละเลยมานาน จนสร้างความแตกแยกในสังคมประเทศต่างๆทั่วโลก และบริษัทโซเชียลมิเดียทั้งหลายยังยืนยันว่าไม่ได้เป็นความผิดของตนและไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเพราะ โซเชียลมิเดียเป็นแค่เครื่องมือส่งต่อความคิดความเห็นเท่านั้น แต่มาวันนี้ทั้งประเทศฝั่งตะวันตกและตะวันออกต่างยอมรับผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขี้นในสังคมของตนอย่างกว้างขวาง เริ่มออกมาตรการควบคุมเข้มงวดมากขึ้น ล่าสุดออสเตรเลียเล็งออกกฎหมายควบคุมข้อความหมิ่นประมาท ในสื่อโซเชียลมีเดีย กำหนดให้ผู้ให้บริการเช่น เฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ ต้องเปิดเผยตัวตนทั้งชื่อและรายละเอียดของผู้โพสข้อความ คาดดำเนินการได้ต้นปี 2565

วันที่ 28 พ.ย.2564 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย กล่าวในการแถลงข่าวทางโทรทัศน์ระบุว่ารัฐบาลได้พิจารณาขอบเขตความรับผิดชอบของแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น ทวิตเตอร์ และ เฟสบุ๊ค สำหรับเนื้อหาที่นำไปสู่การเสื่อมเสียชื่อเสียง เมื่อขึ้นเผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้ หลังจากที่ศาลสูงสุดของประเทศตัดสินว่าผู้ที่โพสเนื้อหาประเภทนี้ ต้องรับผิดชอบต่อความคิดเห็นที่เป็นสาธารณะในฟอรัมออนไลน์ 

กฎหมายกำหนดให้บริษัทโซเชียลมีเดียรวบรวมรายละเอียดของผู้ใช้ทั้งหมด และอนุญาตให้ศาลบังคับบริษัทต่างๆ ให้ส่งมอบข้อมูลประจำตัวของผู้ใช้เพื่อช่วยในคดีหมิ่นประมาท บริษัทโซเชียลมีเดียจะต้องรับผิดตามกฎหมายสำหรับเนื้อหาที่เผยแพร่จากผู้ใช้ กฎหมายจะออกเป็นร่างในสัปดาห์นี้ และคาดว่าจะเปิดตัวต่อรัฐสภาในต้นปีหน้า

มอร์ริสันกล่าวว่าเขาต้องการปิดช่องว่างระหว่างชีวิตจริงและวาทกรรมออนไลน์ 

เขากล่าวย้ำว่า “กฎที่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงต้องมีอยู่ในโลกดิจิทัลและออนไลน์  โลกออนไลน์ไม่ควรเป็นพื้นที่ของพวกบอท หัวรุนแรง และคนอื่นๆที่ไม่ยอมเปิดเผยตัวเองแต่สามารถทำร้ายผู้อื่นได้ เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง และต้องไม่สามารถเกิดขึ้นในโลกดิจิทัลเช่นกัน แพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ บริษัทออนไลน์เหล่านี้ จะต้องมีกระบวนการที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถลบเนื้อหาแบบนี้ได้”

กฎหมายฉบับใหม่นี้จะแนะนำกลไกการร้องเรียน ดังนั้นหากใครคิดว่าตนกำลังถูกหมิ่นประมาท กลั่นแกล้ง หรือโจมตีบนโซเชียลมีเดีย พวกเขาจะสามารถใช้แพลตฟอร์มเพื่อลบเนื้อหาดังกล่าวได้ และหากเนื้อหาไม่ถูกเพิกถอน กระบวนการของศาล อาจบังคับให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้น ให้รายละเอียดของผู้แสดงความคิดเห็นที่ดูหมิ่นนั้นออกมาและตามกฎหมาย จะไม่เพียงใช้กับผู้ใช้ใหม่ที่เข้าร่วมบริการ แต่กับผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกอยู่ก่อนด้วย

กลไกที่แท้จริงในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับบริษัทโซเชียลมีเดียที่จะต้องดำเนินการต่อไป อาจไม่จำเป็นต้องคอยตรวจสอบโพสต์ออนไลน์อย่างจริงจังและดึงโพสต์ที่อาจเป็นการหมิ่นประมาท พวกเขาจะต้องตอบสนองต่อการร้องเรียนที่เกิดขึ้นเท่านั้น

มิเชลเลีย แคช(Michaelia Cash) อัยการสูงสุดกล่าวว่าบริษัทโซเชียลมีเดียควรรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตนด้วย “บริการโซเชียลมีเดียจำเป็นต้องก้าวหน้าขึ้น และพวกเขาต้องเข้าใจว่าพวกเขามีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ นั่นคือเหตุผลที่ขั้นตอนสำคัญนี้ให้ความกระจ่างแก่ชาวออสเตรเลียทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทโซเชียลมีเดียซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์”

การพิจารณากฎหมายใหม่ดังกล่าว ทำให้บริษัทสำนักข่าวบางแห่ง เช่น CNN ปฏิเสธไม่ให้ชาวออสเตรเลียเข้าถึงหน้าเฟสบุ๊คของตน แต่ทั้ง Twitter และ Facebook ยังไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้