เบื้องลึกแอมเนสตี้ฯ สุดอึ้งอาจารย์สาวนิติฯมธ.นั่งประธาน! เปิดตัวกก.- เคยปั่น8ล้านคนทั่วโลก ส่งจม.ถึงรบ.ไทยสุดเหลว!
จากกรณีที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกเปิดตัวแคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” ซึ่งกลับมาอีกครั้งในปีที่ 20 ที่จะเชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ การรณรงค์ของแอมเนสตี้เป็นการสื่อข้อความไปทั่วโลกว่า ประชาชนพร้อมจะยืนหยัดต่อสู้กับการใช้อำนาจอย่างมิชอบไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม
พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ปีนี้เคสของ “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” จากประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญนี้เป็นครั้งแรกด้วย และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยได้เน้นรณรงค์ช่วยเหลือ
โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดตัว คณะกรรมการชุดล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประกอบไปด้วย ศศวัชร์ คมนียวนิช เหรัญญิก , วศิน พงษ์เก่า กรรมการ ,ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ , นาซานีน ยากะจิ กรรมการเยาวชน ,ณพัทธ์ นรังศิยา กรรมการ
ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ ประธานกรรมการของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ซึ่งก็คือ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2561 นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก เปิดเผยว่า ในที่ประชุมใหญ่ประจำปี ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยได้รับเลือกให้เป็น กรรมการเยาวชน ในบอร์ดบริหารขององค์กร
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 แอมเนสตี้ เคลื่อนไหวให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต จากกรณีนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณโหดร้ายเพื่อชิงทรัพย์ โดยก่อเหตุวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ที่จังหวัดตรัง โดยมีการไปทำกิจกรรมที่เรือนจำบางขวาง แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิต
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้องทางการไทยยกเลิกข้อหาต่อผู้ชุมนุมทั้ง 31 คน ยุติการขัดขวางการเข้าร่วมชุมนุมของประชาชนหรือปิดปากเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการแสดงความเห็นในประเด็นทางสังคม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมหรือคลุมเครือ เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับพันธกิจของประเทศที่จะเคารพ คุ้มครอง และเติมเต็มสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2563
โดยระบุว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ผู้ชุมนุมอย่างสงบ 31 คน อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี เนื่องทางการไทยออกหมายจับแกนนำและนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยจำนวน 15 คน จากบทบาทในการจัดการชุมนุมที่กรุงเทพ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ส่วนผู้ชุมนุมอีก 16 คนได้รับหมายเรียกและถูกแจ้งข้อหาจากเหตุการณ์เดียวกัน ทั้ง 31 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรงรวมทั้งยุยงปลุกปั่น ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหากำกวมและจำกัดเสรีภาพ ที่รัฐบาลมักใช้เพื่อปิดปากผู้วิพากษ์วิจารณ์ หากศาลตัดสินว่ามีความผิด นักกิจกรรมแต่ละคนอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดเจ็ดปี การจับกุมผู้ชุมนุมอย่างสงบที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นถึงการปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ที่เข้มข้นขึ้น
จนกระทั่งต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ร่วมกับ รุ้ง ปนัสยา นำ 28,426 รายชื่อ ที่ร่วมเรียกร้องผ่าน Change.org มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ คำมั่นสัญญาต่อประชาชนในการปฏิบัติเพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการไทย
พร้อมทั้งกล่าวว่า เรายังมีความกังวลต่อกรณีการฟ้องคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบคนอื่นๆ รวมทั้งกรณีของรุ้ง ปนัสยา ซึ่งได้ถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญาเพิ่มเติมจากการชุมนุมโดยสงบเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีบุคคลอย่างน้อย 1,634 คน รวมถึงเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 257 คน ใน 166 คดี ถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งหลายคนเสี่ยงที่จะได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน อาจถึงขั้นถูกจำคุกตลอดชีวิต
โดยทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย คือ
1. ยุติการดำเนินคดีอาญาทั้งปวงโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวโดยพลการในขณะนี้
2. อนุญาตให้บุคคลสามารถแสดงความเห็นของตนและสามารถชุมนุมโดยสงบได้ และไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจนเกินขอบเขตที่อาจเป็นการจำกัดการใช้สิทธิของพวกเขาโดยพลการ
3. ให้ดำเนินการสอบสวนโดยทันที อย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และโปร่งใสต่อการรายงานที่ว่ามีการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการควบคุมตัวบุคคลและควบคุมการชุมนุมในทุกกรณี ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการไต่สวน และให้ประกาศใช้แนวปฏิบัติของตำรวจที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย