รบ.ปลื้มไทยนำอาเซียนต่อต้านประมงผิดกม.!?! ลุยแก้ปัญหาต่อ ไม่ปล่อยรายใหญ่คุมเบ็ดเสร็จ

2674

ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียน เพื่อต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (AN-IUU) เป็นพัฒนาการสำคัญที่ขยายความร่วมมือไปสู่ภูมิภาคได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องไม่วางมือในการพัฒนากิจการประมงของไทยให้มีศักยภาพในการดำรงอาชีพและแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้อย่างจริงจัง การปรับกฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ช่วยเหลือด้านการเงินยังไม่พอ การให้ความสำคัญการตรวจสอบกลไลห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำว่าผูกขาดโดยธุรกิจรายใหญ่ซึ่งร่วมทุนกับต่างประเทศ ได้เบียดเบียนโอกาสเติบโตประมงไทยหรือไม่อย่างไร จึงสามารถปลดล็อคอุปสรรคประมงไทย ไปพร้อมกับเดินหน้ายกระดับสู่สากลอย่างแท้จริง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความก้าวหน้าของไทยและภูมิภาคอาเซียนในการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ASEAN Network for Combating Illegal Unreported and Unregulated Fishing: AN-IUU)

AN-IUU มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความร่วมมือของภูมิภาคในการแลกเปลี่ยนข้อมูลได้อย่างทันท่วงทีและความร่วมมือการใช้ข้อมูลจากระบบติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance: MCS) เพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิกและความสามารถการติดตาม ควบคุมและเฝ้าระวัง และการต่อต้านการทำประมง IUU ผ่านแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเผยแพร่ขัอมูล โดยเฉพาะการเฝ้าระวังทางทะเล การสืบสวนสอบสวนและประสบการณ์ของเครือข่าย  

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับตำแหน่งผู้ประสานงานเครือข่าย AN-IUU ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับภาคีภายนอก รวมทั้งเป็นเจ้าภาพในการจัดทำ online interactive platform สำหรับกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรือประมงผิดกฎหมายในอาเซียน และการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่าย AN-IUU ครั้งที่ 1 ในเดือนธันวาคม 2563

เครือข่าย AN-IUU ถือเป็นกลไกแรกของอาเซียนในการจัดการปัญหา IUU โดยบทบาทนำของไทยได้รับการยอมรับจากประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งข้อริเริ่มดังกล่าวนับเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สามารถขยายไปสู่ความร่วมมือในประเด็นการแก้ปัญหา IUU ในภูมิภาคได้

ทบทวนผลงาน-ปราบค้ามนุษย์,งบฯ 171ล้านแก้ประมงผิดกม.

29 ก.ค. 2563 รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงในประมง พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นผลการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2562-31 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้การคุ้มครองแรงงานประมงสอดคล้องมาตรฐานสากล และสร้างเครือข่ายความร่วมมือป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศ โดยในภาพรวมพบว่าการกระทำผิดเกี่ยวกับการประมงลดน้อยลง ตามกรอบการดำเนินการ 5 ด้าน 

1.ด้านนโยบายมีการตั้งคณะทำงาน กำกับ และติดตาม การป้องกันและแก้ไขแรงงานภาคประมง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการการออกกฎหมาย

  1. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย จากการตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก พบการกระทำความผิดเพียง 9 ลำจากทั้งหมด 37,054 เที่ยว หรือร้อยละ 0.024ขณะที่เรือประมงกลางทะเล ตรวจทั้งหมด 508 ลำ พบการกระทำผิด 2 ลำ หรือร้อยละ 0.39

3.ด้านการป้องกันมีการบริหารจัดการกิจการประมงทั้งหมด 160,950 คน มีการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว 92,233 คนและออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย รอบปีประมง 63-64 จำนวน 10,202 ลำ และนอกน่านไทย 6 ลำ

4.ด้านการคุ้มครองการช่วยเหลือ มีการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ 3 ราย

5.ด้านการสร้างความร่วมมือกับประทศต่างๆมีโครงการ”สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง” ร่วมกับสหภาพยุโรป และองค์กรแรงงานระหว่างประทศ(ไอแอลโอ)

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศให้การปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2558 และดำเนินการอย่างเคร่งครัดจริงจังภายใต้กรอบที่กำหนด ส่งผลให้สถานะดีขึ้นและถูกจัดอยู่ในเทียร์สองของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐ หรือทริปรีพอร์ต ตั้งแต่ปี 2561 ขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดใบเหลืองของประมงไทย เมื่อปี 2562 ด้วยเช่นกัน

นายกรัฐมนตรีฯได้เน้นย้ำ ไทยได้ถูกปลดจากใบเหลืองไปแล้ว และจะไม่ยอมให้เรากลับไปสู่จุดที่เราเคยได้รับใบเหลืองอีก การทำงานต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด ส่วนมาตรการใดๆที่ออกมาแล้วนำไปสู่ผลกระทบกับชาวประมง ทั้งพาณิชย์และพื้นบ้าน ภาครัฐต้องเข้าไปดูแลเป็นการด่วน  สิ่งใดที่ยังต้องการ หรือขาดเหลือ ทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฏระเบียบหรือการขาดงบประมาณ ให้เสนอมายังครม.และกำชับว่าทุกส่วนงานต้องทำงานกันอย่างบูรณาการ ขณะเดียวกันครม.ได้อนุมัติงบกลางให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ใช้ดำเนินการโครงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายวงเงิน 171.6 ล้านบาท

ประมงไทยยังมีหวัง-เปิดพื้นที่เจรจาประมงพื้นบ้าน 14 ข้อเรียกร้อง 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ทั้ง 14 ข้อ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อคิดเห็น 

ผลการประชุมปรากฏว่า ได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของชาวประมงพื้นบ้าน อาทิ ข้อเรียกร้องซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การแก้กฎหมายตามข้อเสนอของสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง การขอทราบสถิติการทำการประมงนั้น กรมประมงไม่ได้ขัดข้องและได้ส่งข้อมูลจากการบันทึกการทำการประมง ตั้งแต่ปี 2559 – 2562 ให้แก่สมาคมสมาพันธ์ฯ ตามที่ร้องขอแล้วหลังเสร็จสิ้นการประชุม  การออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน การขอให้กรมประมงพิจารณาออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้านนั้น กรมประมงรับข้อเสนอและจะเร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 โดยกรมประมงจะหารือร่วมกับสมาคมสมาพันธ์ฯ และผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน ใน 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อพิจารณาชนิดและขนาดของเครื่องมือทำการประมงพื้นบ้านที่ต้องขออนุญาตภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้านแล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ 

อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ประมงจังหวัด ประมงอำเภอ รวมถึงเจ้าหน้าที่ในสังกัด เร่งชี้แจงทำความเข้าใจในสิ่งที่ภาครัฐได้ดำเนินการและการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้ชาวประมงในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ผลการดำเนินการของรัฐ ตามประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 กันยายน 2563 กรมประมงยังได้เชิญทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและสมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล ซึ่งได้มีการยื่นข้อเรียกร้องมาก่อนหน้านี้ มาหารือถึงแนวทางออกของการแก้ไขปัญหาประมงร่วมกันอีกด้วย