พันธมิตรแยกวง??EU ไม่เกรงใจนาโต จ่อตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 5,000 ไม่พึ่งสหรัฐฯ

1410

สหภาพยุโรป (อียู) กำลังพิจารณาแผนจัดตั้งหน่วยรบเคลื่อนที่เร็วสูงสุด 5,000 นายภายในปี 2025 เพื่อปฏิบัติภารกิจแทรกแซงในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ในภูมิภาค โดยไม่จำเป็นต้องรอพึ่งสหรัฐฯ การเคลื่อนไหวนี้เริ่มมาเอาจริงเอาจัง ตั้งแต่วิกฤตอพยพกองทหารสหรัฐจากอาฟกานิสถานอย่างฉุกละหุก และประเทศสมาชิกยุโรปได้รับผลกระทบแต่พึ่งพาสหรัฐไม่ได้เพราะ สหรัฐเองก็วุ่นวายเนื่องจากไม่มีแผนการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอ้างเอกสารความยาว 28 หน้ากระดาษ ลงวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเอ่ยถึงการจัดตั้งหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วแห่งสหภาพยุโรป (EU Rapid Deployment Capacity)ซึ่งจะประกอบด้วยกำลังพลทั้งทางบก, ทะเล และอากาศ ที่สามารถเข้าไปสับเปลี่ยนกับกองกำลังประจำการทุกหน่วยได้ โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์

รัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีกลาโหมอียูได้มีการหารือแผนดังกล่าวแบบคร่าวๆ เมื่อวันจันทร์ที่ 15 พ.ย.2564 ที่กรุงบรัสเซลส์ และคาดว่าจะมีการพูดคุยกันต่อในวันต่อมา โดยมีเป้าหมายบรรลุข้อตกลงฉบับสมบูรณ์ภายในเดือน มี.ค. ปี 2022

ร่างยุทธศาสตร์ซึ่งจัดทำโดย โจเซป บอร์เรลล์ (Jojep Borrell) หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของอียู ถือเป็นความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมครั้งล่าสุดที่จะทำให้ยุโรปมีกองกำลังร่วมเป็นของตนเองที่ไม่พึ่งพากำลังทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ หลังจากบรรดาผู้นำอียูเคยบรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองกำลังร่วม 50,000-60,000 นายเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง

เอกสารซึ่งใช้ชื่อว่า “เข็มทิศยุทธศาสตร์” (Strategic Compass) ย้ำว่า ยุโรปจำเป็นจะต้อง “เพิ่มความรวดเร็ว แข็งแกร่ง และยืดหยุ่นเพื่อจัดการวิกฤตด้านการทหาร และต้องสามารถตอบสนองภัยคุกคามเฉพาะหน้า หรือรับมือกับสถานการณ์ขั้นวิกฤตได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น ภารกิจช่วยเหลือและอพยพคน หรือปฏิบัติการฟื้นฟูเสถียรภาพในบริบทที่ไม่เป็นมิตร”

ทั้งนี้ รัฐสมาชิกอียูไม่จำเป็นต้องส่งกองกำลังเข้าร่วมครบทั้ง 27 ประเทศ ทว่าในการปฏิบัติภารกิจแต่ละครั้งจำเป็นต้องได้รับมติเอกฉันท์

บอร์เรลล์ เรียกร้องให้รัฐสมาชิกอียู “ร่วมกับสนับสนุนทรัพยากรด้านยุทธศาสตร์ที่จำเป็น” ซึ่งหมายถึงการพัฒนาระบบโลจิสติก, การขนส่งทางอากาศระยะไกล รวมถึงศักยภาพด้านการบัญชาการและควบคุม ซึ่งที่ผ่านมารัฐสมาชิกนาโตในยุโรปต้องพึ่งพาสหรัฐฯ มาโดยตลอด

สหรัฐฯ เองก็เรียกร้องให้ยุโรปทุ่มงบลงทุนด้านกองกำลังพร้อมรบให้มากยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดน ชี้ว่าการทำเช่นนั้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับนาโต เพราะคิดเช่นนี้ การผลักดันกองกำลังพิเศษในอดีตจึงไม่สำเร็จเพราะเหล่าสมาชิกไม่ต้องการส่งความร่วมมือซ้ำซ้อนเพิ่ม รอการสนับสนุนหลักจากสหรัฐมาโดยตลอด

สหภาพยุโรปได้เคยจัดตั้งกองกำลัง battlegroup จำนวน 1,500 นายตั้งแต่ปี 2007 แต่ล้มเหลว และยังไม่เคยปฏิบัติภารกิจจริงมาก่อนเนื่องจากอุปสรรคทางการเมือง ทางเทคนิค และการเงิน

ข้อเสนอดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่าหน่วยงานควรเริ่มการฝึกอบรมตั้งแต่ปี 2566 และ “ดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์” ภายในปี 2568

รายงานเสนอให้จัดตั้ง Rapid Reaction Force สมาชิก 5,000 คนในเดือนมีนาคมปีหน้า ฝรั่งเศส เยอรมนีและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ ได้พูดออกมาเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งกองกำลังใหม่ของสหภาพยุโรป

ฝรั่งเศส ซึ่งมีแผนจะผลักดันให้เสร็จสิ้นในฤดูใบไม้ผลิหน้า หลังจากที่ปารีสเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีหมุนเวียนของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ยังจะเป็นวาระการประชุมเมื่อผู้นำสหภาพยุโรปพบกันในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ 

ในทางตรงกันข้าม โปแลนด์และรัฐบอลติกไม่สนับสนุนแผนดังกล่าวในขณะนั้น เหตุผลหนึ่งคือจนถึงตอนนี้ ประเทศเหล่านี้พึ่งพาองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) เป็นหลักสำหรับประเด็นด้านการทหารและการป้องกันประเทศ และเกรงว่าพันธมิตรกับสหรัฐฯ จะอ่อนแอลง