เปิดคำสั่งศาลตอกหน้า“รุ้ง”คนทั่วไปยังรู้มีโรคระบาดอยู่! ม็อบ31ตุลาใครฝืนโทษหนัก

1868

จากที่ น.ส.ปนัสยา หรือ รุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกข้อกำหนดที่25 ข้อที่ 3 โดยอ้างจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมนั้น

โดย น.ส.ปนัสยา กล่าวว่า ตนมายื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน และให้คุ้มครองการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่แยกราชประสงค์ชั่วคราว เนื่องจากการชุมนุมที่ผ่านมามีการขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เสมอ และตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนย ที่จะถึงก็เปิดประเทศแล้วจึงไม่มีเหตุอันใดที่ยังจะต้องห้ามไม่ให้มีการชุมนุมอีกต่อไป รวมถึงที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎพบผู้ติดเชื้อโควิด19 จากการชุมนุมทางการเมือง

“ก็คาดหวังว่าสิทธิในการคุ้มครองชั่วคราวจะไม่เพียงมีผลกับการชุมนุมในวันที่ 31 ตุลาคมเท่านั้น แต่อยากให้มีผลคุ้มครองการชุมนุมของทุกกลุ่ม จึงขอให้ศาลได้รับคำร้องและฟังเสียงของประชาชนที่ออกมาแสดงออกอย่างสันติ” น.ส.ปนัสยา กล่าว

ล่าสุดวันนี้ 30 ตุลาคม 2564  ศาลเเพ่งได้ออกเอกสารข่าว ความว่าตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะว่าเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2564 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลกับพวกรวม 4 คนยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชากับพวกรวม 2 คนเป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.5080/2564 ของศาลแพ่งขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ข้อ3 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับที่ 12

และให้ไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นและให้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานภายใต้บังคับบัญชาปฏิบัติการในลักษณะกีดขวางการชุมนุมของโจทก์ทั้ง4 และให้เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชนพร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวและห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่งหรือการกระทำใด ๆ ที่สั่งการตามประกาศดังกล่าวมาใช้กับโจทก์ทั้งสี่และประชาชนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น

บัดนี้ศาลแพ่งได้ออกนั่งพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานแล้วมีคำสั่งอันสรุปใจความได้ว่า “แม้ข้อกำหนดและประกาศตามฟ้องที่มีเนื้อหาห้ามมิให้มีการชุมนุมจะเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นหรือการชุมนุม แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) เป็นข้อเท็จจริงซึ่งรู้กันอยู่ทั่วไปว่ายังคงมีการแพร่ระบาดอยู่

ทั้งได้ความตามคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินของโจทก์ทั้ง4ว่าในวันที่ 31 ต.ค.64 จะมีประชาชนทำกิจกรรมรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 10,000 รายอันมีความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีการแพร่ระบาดของโรคที่เป็นภัยต่อความปลอดภัยสาธารณะ กรณีจึงยังคงมีความจำเป็นที่ต้องบังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวต่อไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคและประโยชน์สาธารณะโดยส่วนรวม

ทั้งนี้หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลให้ความปลอดภัยสาธารณะโดยส่วนรวมขึ้นก็อาจจะไม่มีความจำเป็นในการบังคับใช้ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวต่อไป

ในชั้นนี้ตามคำร้องของโจทก์ทั้ง4จึงไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254(2) มาบังคับใช้ให้ยกคำร้อง