อาเซียนเนื้อหอม!?!สหรัฐยื่นเงินมา-จีนเร่งเคลียร์ปัญหาทะเลจีนใต้ รู้ทันไม่มีของฟรีในโลก

1205

การประชุมสุดยอดอาเซียนกำลังดำเนินอยู่ มหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐแสดงเจตจำนงค์สนใจในภูมิภาคอาเซียน อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะสหรัฐฯที่ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนมาเยือนย่านนี้นับทศวรรษ ล่าสุดออกข่าวว่าสหรัฐฯ มีแผนสนับสนุนเงินแก่อาเซียนเพื่อขยายการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ด้านจีน ให้ความสำคัญต่ออาเซียนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มาครั้งนี้อ้อนอาเซียนพร้อมคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้อย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยความคับข้องใจกับคู่ขัดแย้งเรื่องพื้นที่กับประเทศสมาชิกต้องยืดเยื้อต่อไป

เมื่อ 26 ต.ค.2564 สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างถ้อยแถลงของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่า ประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะประกาศแผนสนับสนุนเงิน 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แก่อาเซียน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อขยายการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน แบ่งเป็นหลายด้านได้แก่

-การสนับสนุนเกี่ยวกับสาธารณสุขเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 และสร้างศักยภาพในการป้องกัน ปกป้อง และตอบสนองต่อโรคระบาดในอนาคต จำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

-การแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ 20.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

-ความร่วมมือด้านการค้าและนวัตกรรม 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

-โครงการด้านการศึกษา 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ

-การเผยแพร่ความเท่าเทียมทางเพศ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะมอบแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานองค์กรใดและเมื่อไหร่

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนและจีน ระบุผลว่าจีนจะร่วมมือกับอาเซียนเร่งแก้ปัญหาข้อขัดแย้งในทะเลจีนใต้ให้กระชับและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำนักข่าว Viet Nam News รายงานอ้างถ้อยแถลง นายกรัฐมนตรี ฝั่ม มิญ จิ๊ญ ของเวียดนาม ระหว่างเข้าร่วมการประชุมอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 ผ่านทางระบบออนไลน์ เมื่อ 26 ต.ค.64 ว่า อาเซียนและจีนได้สร้างความเข้มแข็ง ความเข้าใจ ความหลากหลาย การนำไปปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งจากความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอาเซียนและจีนเป็นเวลา 30 ปี ประเทศคู่เจรจา 25 ปี หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ 18 ปี ถือเป็นพันธกรณีระหว่างกันเพื่อสร้างไว้วางใจ ความเข้าใจและการเคารพและความร่วมมือในลักษณะที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ 

ดังนั้นอาเซียนและจีนจะดำเนินการเกี่ยวกับปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration of the Conduct of Parties in the South China Sea – DOC) อย่างเต็มที่ และร่วมกันจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea – CoC) อย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริง เพื่อดำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ ความร่วมมือและผลประโยชน์ของอาเซียนและจีน

ด้านสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า จีนต้องการยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศอาเซียน โดยเรียกร้องให้มีการประชุมสุดยอดนัดพิเศษในเดือนหน้าซึ่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงจะเข้าร่วมประชุมด้วยตัวเอง โดย นายกรัฐมนตรี หลี่เค่อเฉียง ของจีนประกาศข้อเสนอดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีนที่บรูไน

การยกระดับความสัมพันธ์ซึ่งเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ข้อตกลงเชิงกลยุทธ์ที่ครอบคลุม” ดูเหมือนจะกว้างขวางครอบคลุมกว่าความสัมพันธ์ในปัจจุบันของจีนกับอาเซียน และยังประกาศก่อนที่จะมีการประชุมทางไกลระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐและอาเซียนไม่กี่ชั่วโมง

ประธานาธิบดี ลีเซียนลุง ของสิงคโปร์สนับสนุนแผนของจีนที่จะยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียน เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือระหว่างกันไว้แล้ว

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย แสดงความคิดเห็นด้วยความระมัดระวังกับข้อเสนอนี้ โดยกล่าวว่า “การรักษาสันติภาพที่ยั่งยืนท่ามกลางพลวัตของสถานการณ์ที่ซับซ้อนในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม

ฝ่ายไทยเผยระหว่างการประชุมว่า ไทยไม่ประสงค์จะเห็นความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้าระหว่างมิตรประเทศ และสนับสนุนให้มีการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันในประเด็นทะเลจีนใต้

ความสัมพันธ์ของจีนและอาเซียนมีความคืบหน้าเมื่อเดือน พ.ย.2563 เมื่อ 15 ประเทศลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) แต่จนถึงขณะนี้มีเพียง 6 ประเทศที่ให้สัตยาบัน คือ ไทย สิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น กัมพูชา และบรูไน โดยประเทศอาเซียนอีกอย่างน้อย 3 ประเทศและอีก 1 ประเทศจากภูมิภาคอื่นต้องให้สัตยาบันก่อน ความตกลงดังกล่าวจึงจะมีผลบังคับใช้ ล่าสุดจีนยังแสดงความสนใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้น แปซิฟิก (CPTPP) ด้วย