คนไทยจะรับมืออย่างไร??ปล้นเงินทางดิจิทัล รัฐบาล-แบงก์ชาติต้องมีกม.ควบคุมเฉพาะ

1122

ในช่วงต่อของการเตรียมสังคมไทยเข้าสู่โลกดิจิทัลด้านการเงิน รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับทั้งด้านระบบการเงินธนาคาร และสร้างความคุ้นเคยให้กับประชาชนผ่านการใช้กระเป๋าตังรับเงินเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดมาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเกิดเหตุการณ์ดูดเงินจากบัญชีรัวๆ คนไทยกว่า 4 หมื่นรายตกเป็นเหยี่อ และธนาคารได้คืนเงินให้หมดทุกรายแล้ว แต่ยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือรับมือกับเหตุที่อาจเกิดขึ้นอีก ขณะที่ “กระทรวงการคลัง-ก.ล.ต.-ธปท.” ต่างเอาใจใส่คุมเข้มกำกับดูแลการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังได้รับความสนใจและตื่นตัวอย่างมาก

การกำกับดูแลการลงทุนในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่อาจละเลยมาตรการป้องกันอย่างครอบคลุมการใช้เงินหรือทำธุรกรรมของประชาชนคนธรรมดาผ่านไซเบอร์หรือโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เหมาะสม และมาตรการจำเป็นในการตรวจสอบคัดกรองอย่างเข้มข้น ไม่ควรปล่อยให้เกิดลักษณะวัวหายแล้วล้อมคอกอีก เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นความมั่นคงด้านเศรษฐกิจที่ไม่อาจประมาท  สงครามยุคใหม่ ไม่ใช่มีเพียงอาวุธทางทหาร แต่แฝงมาในรูปแบบการคุมคามทำลายล้างทางเศรษฐกิจด้วย

วันที่ 25 ต.ค.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลคริปโตเคอร์เรนซี เงินสกุลดิจิทัล ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายกำกับดูแลแล้ว แต่ยังมีหลายฝ่ายตั้งประเด็นสงสัยเกี่ยวกับบทบาทการกำกับดูแล ดังนั้น จึงต้องการให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตซึ่งปัจจุบันบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยมีถึง 1.49 ล้านบัญชี

นอกจากนี้ จะต้องเร่งให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน ผู้ลงทุนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เงินสกุลดิจิทัลด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องจำเป็น เพราะทั่วโลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การใช้เงินสกุลดิจิทัล ขณะเดียวกันการลงทุนเงินดิจิทัลก็มีข้อควรระวัง เรื่องการหลอกลวง เพราะเงินสกุลดิจิทัลจะเห็นเพียงตัวเลขแต่ไม่เห็นเงินจริง ดังนั้นต้องระมัดระวังและเตือนนักลงทุนเพื่อมิให้ถูกหลอกในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล

นายอาคมกล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการหลายรายมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล กับ ก.ล.ต.แล้วหลายราย ซึ่งการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเป็นไปตามเศรษฐกิจโลก สำหรับประเทศไทย จะเติบโตแค่ไหนอย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศด้วย ซึ่งไทยไม่ได้ปิดกั้นการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องระมัดระวังในการลงทุน

ด้านการแก้ปัญหาเรื่อง ความเสียหายจากการถูกดูดบัญชีธนาคารนั้น ทั้งแบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ระบุคืนเงินลูกค้าที่เสียหายจากการถูกหักเงินจากบัตรเดบิตครบทุกรายแล้ว

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ได้ชี้แจงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 กรณีการตัดเงินที่ผิดปกติผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของลูกค้า โดยเกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตรและนำไปสวมรอยทำธุรกรรม โดยพบว่าระหว่างวันที่ 1 – 17 ตุลาคม 2564 มีบัตรของธนาคารจำนวน 10,700 ใบ ถูกนำไปทำธุรกรรมลักษณะดังกล่าว มูลค่ารวมประมาณ 130 ล้านบาท ซึ่งแต่ละธนาคารมีระบบการตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติตามลักษณะประเภทร้านค้าและประเภทสินค้าอยู่แล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าว ธนาคารจึงได้เพิ่มมาตรการป้องกันและดำเนินการแก้ปัญหาไปแล้ว

ธปท. และสมาคมธนาคารไทยชี้แจงการดำเนินการเพิ่มเติมล่าสุดของธนาคาร ดังนี้

  1. วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ธนาคารได้คืนเงินให้แก่ลูกค้าบัตรเดบิตที่ได้รับความเสียหายในกรณีข้างต้นครบทุกรายแล้ว ในส่วนของบัตรเครดิตได้ดำเนินการตั้งพัก เร่งตรวจสอบ และยกเลิกรายการ โดยลูกค้าไม่ต้องชำระเงินตามยอดเรียกเก็บที่ผิดปกติและไม่มีการคิดดอกเบี้ย
  2. ธนาคารได้ยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ (1) ตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้ครอบคลุมธุรกรรมที่มีจำนวนเงินต่ำและที่มีความถี่สูง (2) ติดตามเฝ้าระวังรายการธุรกรรมจากต่างประเทศเป็นพิเศษ (3) แจ้งเตือนลูกค้าในการทำธุรกรรมทุกรายการตั้งแต่รายการแรก และ (4) ประชาสัมพันธ์วิธีการป้องกันความเสี่ยง เช่น การปรับวงเงินในบัตรให้เหมาะสมกับการใช้จ่าย หลีกเลี่ยงการผูกบัตรกับเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ไม่น่าไว้ใจ ทำให้ปริมาณธุรกรรมผิดปกติในลักษณะดังกล่าวลดลงมาก โดยธนาคารจะติดต่อสอบถามลูกค้าเพิ่มเติมกรณีพบรายการต้องสงสัย

หากพบความเสียหายเพิ่มเติมจากกรณีข้างต้น ลูกค้าบัตรเดบิตจะได้รับการคืนเงินภายใน 5 วันทำการ

นอกจากนี้ ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือแนวทางเพื่อผลักดันให้ผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรทุกราย กำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการบังคับใช้การยืนยันตัวตนก่อนทำรายการชำระเงินกับบัตรเดบิตสำหรับทุกร้านค้าออนไลน์ โดยเฉพาะร้านค้าในต่างประเทศ เช่น การใช้ระบบการยืนยันตัวตนของเครือข่ายบัตร ที่ให้ลูกค้าหรือผู้ซื้อต้องยืนยันตัวโดยใส่เลข OTP ก่อนร้านค้าทำการตัดบัญชี ซึ่งเป็นการดูแลความปลอดภัยที่เข้มกว่ามาตรฐานสากลที่เครือข่ายบัตรกำหนดไว้ รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำธุรกรรมของลูกค้า โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการจัดการใช้ป้องกันและตรวจจับภัยคุกคามทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ชี้แจงว่า ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีการบริหารความเสี่ยงสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และธนาคารร่วมกับชมรมตรวจสอบและป้องกันการทุจริต ชมรมบัตรเครดิต และศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ในการพัฒนาระบบป้องกันให้เท่าทันภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ อยู่เสมอ และร่วมกันสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเพิ่มความระมัดระวังการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การทำธุรกรรมกับแพลตฟอร์มที่ไม่มีการยืนยันตัวตนก่อนใช้งาน หรือไม่มีการใช้ OTP รวมทั้งหมั่นตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงจากมิจฉาชีพที่จะกระทำการทุจริตทางการเงินใด ๆ ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการให้มากขึ้นต่อไป

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ มาพร้อมกับความเจริญเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่คนไทยจำเป็นต้องรู้เท่าทัน มุมมองของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงมองเป็นเพียงเรื่องของอาชญากรรมทางการเงิน ซึ่งอาจไม่ถูกต้องทั้งหมด ท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วอำนาจโลก เครื่องมือป้องปรามแบบเดิมๆอาจไม่เพียงพอ!?