ผตห.คดีม.112 พกมีดเข้าศาลโชว์กรีดประท้วงไม่ให้ประกันเบนจา สุดท้ายโดนคดีเพิ่ม

2000

จากที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในคดีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 นั้น

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่เหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดี ไว้ ซึ่งขอนำมาเปิดเผยบางช่วงที่น่าสนดังนี้

ณ ห้องพิจารณาคดี 503 เมื่อสิ้นเสียงผู้พิพากษา โจเซฟ (นามสมมติ) หนึ่งในจำเลยคดีนี้ได้ลุกยืนขึ้น ขออนุญาตศาล จากนั้นเดินตรงจากที่นั่งในห้องพิจารณาตรงไปยังคอกหน้าบัลลังก์ ก่อนจะเอ่ยถ้อยแถลงว่า

ผมขอฝากข้อความนี้ถึงอธิบดีศาลและคณะผู้บริหารศาลทุกท่าน เสื้อที่ผมใส่มาวันนี้ คนหนึ่งชื่อ อานนท์ นำภา อีกคนชื่อ เบนจา อะปัญ สองคนไม่ได้ประกันตัวภายใต้ศาลแห่งนี้

ผมจึงอยากจะฝากท่านไปบอกอธิบดีศาลว่า ทั้งสองคนยังเป็นเพียงผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ามีความผิด แต่การที่ศาลไม่ให้ประกันและสั่งจองจำทั้งสองนั้นเท่ากับว่าศาลได้ตัดสินพวกเขาไปแล้วว่ามีความผิด

เมื่อพูดเสร็จ ใช้มือขวาล้วงมีดคัตเตอร์ออกจากกระเป๋าข้างกางเกง และตั้งศอกแขนซ้ายขึ้นมา พร้อมกับกล่าวว่า สองคนนี้ไม่ได้ประกันตัว ก่อนจะดันเปิดใบมีดออกมาและค่อยๆ กรีดลงที่หลังแขน ระนาบเดียวกับหลังมือในลักษณะของการปาดแนวนอน

นอกจากนี้ เฟซบุ๊ก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังโพสต์ข้อความเกี่ยวกับคดีของนายอานนท์ ด้วยว่า จนถึงขณะนี้ อานนท์ นำภา ถูกคุมขังมาแล้วเป็นระยะทั้งสิ้น 63วัน และ เบนจา อะปัญ ถูกคุมขังมาแล้วเป็นระยะเวลา 3วันแล้ว ซึ่งล้วนแต่เป็นคำสั่งภายใต้การพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดพิจารณาคดีที่พนักงานอัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นฟ้อง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ พร้อมพวก รวม 13 คน ประกอบด้วย 1. น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์ มหานคร)  2. นายกรกช แสงเย็นพันธ์ (ปอ DRG) 3. นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือบอล 4. น.ส.เบนจา อะปัญ 5. นายวัชรากร ไชยแก้ว 6. นายณวรรษ เลี้ยงวัฒนา (แอม) 7. นายอรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) 8. นายอัครพล ตีบไธสง 9. นายกฤษพล ศิริกิตติกุล(โจเซฟ) 10. น.ส.สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ 11. น.ส.รวิสรา เอกสกุล 12. น.ส.ณัชชิมา อารยะตระกูลลิขิต และ 13. นายชลธิศ โชติสวัสดิ์

ซึ่งถูกกล่าวหาความผิดมาตรา 112 และมาตรา 116 กรณีชุมนุมอ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563

ขณะที่มีรายงานว่าขณะอยู่ในห้องพิจารณาคดี นายกฤษพล หรือโจเซฟ ได้ใช้มีดคัทเตอร์กรีดทำร้ายร่างกายตนเอง  ซึ่งทางผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญากรุงเทพใต้ เตรียมที่จะยื่นขอให้มีการไต่สวนละเมิดอำนาจศาลในวันที่ 12 ตุลาคม2564 กรณีที่มีการพกพาอาวุธมีดคัทเตอร์เข้ามาในห้องพิจารณาคดีว่า จะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในศาล เเละจะเข้าข่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ โดยสาเหตุที่ยังไม่ได้ยื่นขอไต่สวนละเมิดอำนาจศาลในวันนี้ เนื่องจากการพิจารณาคดีมีการเลื่อน จำเลยเดินทางกลับออกจากศาลเเล้ว

นอกจากนี้ทีมข่าวเดอะทรูธ ยังได้ตรวจสอบถึงการไม่ให้ประกันตัว  เบนจา ด้วยว่าเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ โจเซฟ อ้างหรือไม่ก็ว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2564  ศาลอุทธรณ์ ได้ยกคำร้องไม่ให้ประกันตัว เบนจา สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ต้องหาคดี ม.112 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ จากกรณีการจัดคาร์ม็อบและอ่านแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับกุมวันที่ 7 กันยายน 2564 หลังจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง กรณีศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหานั้นมีอัตราโทษสูงอีกทั้งผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในลักษณะคล้ายเดิม โดยการปราศรัยอันมีถ้อยคำที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ต้องหาได้เคยรับการอนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราวในข้อหาดังกล่าวและมีเงื่อนไขว่าห้ามมิให้กระทำการใดที่ให้เป็นการเสื่อมเสียและห้ามเข้ากิจกรรมใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งหากอนุญาตปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น และก่อให้เกิดการเสียหายและเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว ศาลจึงยกคำร้อง