นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ และนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เหี่ยวเฉา เมื่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐต่ำกว่าคาดมาก ชี้เฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐฯเจอโจทย์ยากในการประชุม 2-3 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เมื่อสหรัฐเผยจ้างงานวูบหนักเพิ่มเพียง 194,000 ตำแหน่ง จากที่คาดการณ์ไว้ 500,000 ตำแหน่ง ขณะแนวโน้มเงินเฟ้อพุ่งฉุดไม่อยู่ ทำให้เกิดความกังวลอย่างกว้างขวางว่า สหรัฐจะต้องเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลปธน.โจ ไบเดนจะพยายามแก้ปัญหาปลดเพดานหนี้เพื่อจะกู้เงินมาใช้ในมาตรการฟืันฟูเศรษฐกิจก้อนใหญ่ก็ตาม
ล่าสุดรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี คอนซูมเมอร์ คอนฟิเด้นซ์ (CB Consumer Confidence)แตะระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน
วันที่ 8 ต.ค.2564 กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 500,000 ตำแหน่ง หลังจากแตะระดับ 366,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคม
ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.1% จากระดับ 5.2% ในเดือนสิงหาคม
นายคาร์ล แทนเนนบอม นักเศรษฐศาสตร์จากนอร์ทเทิร์น ทรัสต์ กล่าวว่า
“ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องการเห็นตัวเลขจ้างงานจำนวนมากเพื่อให้การตัดสินใจถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเป็นไปอย่างง่ายดาย แต่ตอนนี้ คาดว่าการหารือกันในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ย. จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และตลาดจะต้องรับมือกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น”
ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์กันว่า เฟดจะประกาศกำหนดเวลาในการเริ่มปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือที่เรียกกันว่า QE ในเดือนพฤศจิกายน และจะดำเนินการปรับลดจริงในเดือนธันวาคม ก่อนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ซึ่งคาดการณ์ไทม์ไลน์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไป หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานในวันนี้
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 194,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 500,000 ตำแหน่ง หลังจากแตะระดับ 366,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค.
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น 0.6% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังรายงานภาวะเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ที่ 5.4% สวนทางเงินเฟ้อที่เฟดตั้งเป้าไว้ว่า 2% เหมาะสม
นักลงทุนมองต่างมุมเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในวันนี้ โดยบางส่วนผิดหวังต่อตัวเลขดังกล่าว โดยมองว่าตัวเลขจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐยังคงอ่อนแอ และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวจริง หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่นักลงทุนอีกส่วนหนึ่งมองมุมบวกว่า ตัวเลขการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดดังกล่าว จะทำให้เฟดยังไม่เร่งประกาศปรับลดวงเงิน QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าที่กำหนดไว้
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ถือเป็นโจทย์ยากของเฟดในการตัดสินใจว่าจะถอนการผ่อนคลายนโยบายการเงินตามแผนที่คาดไว้หรือไม่ เนื่องจากรายละเอียดในรายงานตัวเลขจ้างงานฉบับนี้บ่งชี้ทิศทางเป็นลบ
ขณะเดียวกัน การที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ได้เพิ่มขึ้น 0.6% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.4% ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarms Payrolls) จะวัดค่าการเปลี่ยนแปลงในจำนวนของผู้ที่มีงานทำในระหว่างช่วงเดือนก่อนหน้านี้โดยไม่รวมอุตสาหกรรมภาคการเกษตร การสร้างงานนั้นเป็นดัชนีที่สำคัญที่บ่งชี้ถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญมากของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ค่าที่สูงกว่าที่คาดไว้ถือว่าเป็นลักษณะเชิงบวก ขณะที่ค่าที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ถือว่าเป็นลักษณะเชิงลบ หมายความว่า ภาวะเศรษฐกิจจริงที่ทำให้เกิดการจ้างงาน และความสามารถในการใช้จ่ายของคนอเมริกันตัวเลขสะท้อนว่ายังอ่อนแอ!!