วิกฤติขาดแคลนแรงงานในอังกฤษไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นับตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 มีตำแหน่งงานว่างในประเทศอังกฤษมากถึง 1 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยเฉพาะพนักงานขับรถบรรทุก หลังจากอังกฤษเบร็กซิตแล้ว พนักงานจากประเทศยุโรปต่างๆ ก็ต้องออกจากอังกฤษและเดินทางกลับประเทศตัวเอง ครั้นจะกลับเข้ามาทำงานใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะติดเรื่องการระบาดของโควิด-19 แล้ว ยังเป็นเพราะขั้นตอนการสมัครงานในอังกฤษยุ่งยากกว่าสมัยที่ยังเป็นสมาชิกอียู การเบรกซิตก็คือการออกจากสหภาพยุโรปทำให้กฎเกณฑ์ความสัมพันธ์กับต่างประเทศระหว่างอังกฤษและประเทศยุโรปอื่นๆที่ยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเปลี่ยนไป
การออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ทำให้แรงงานที่จะเข้าไปทำงานในอังกฤษต้องเจอข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนย้ายบุคคลระหว่างประเทศ แม้แต่การทดสอบพนักงานขับรถใหม่ก็ต้องเลื่อนออกไป ด้วยการเดินทางและขั้นตอนทางศุลกากรอันแสนจะยุ่งยาก ทำให้พนักงานขับรถจากสหภาพยุโรปจำนวนมากบ๊าย บาย ปฏิเสธที่จะมาขับรถในเส้นทางนี้ เพราะทำให้พวกเขาเสียเวลาในการทำงานมากขึ้นต้องจ่ายค่าตอบแทน ภาษียุบยิบ
ช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ.2563 โควิด–19 เพิ่งเริ่มระบาด มีพนักงานขับรถบรรทุกจากสหภาพยุโรปมากถึง 1.4 หมื่นคนลาออกจากงาน วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 1 ปี เดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มีพนักงานขับรถแค่ 600 คนเท่านั้นที่กลับเข้ามาทำงานในสหราชอาณาจักร ข้อมูลนี้มาจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรหรือเราเรียกกันง่ายๆว่าอังกฤษ นอกจากนั้น สมาคมขนส่งสินค้าสหราชอาณาจักรยังออกมาประกาศว่า ตอนนี้ขาดแคลนคนขับรถบรรทุกมากถึง 1 แสนคน
ปัญหาการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกเรื้อรังมานานเป็นปีแต่ก็ไม่มีการแก้ไข ทำให้ระบบซัพพลายเชนของอังกฤษเข้าสู่ภาวะวิกฤติ จนรัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน สั่งการให้ทหารหลายร้อยนายเตรียมพร้อมสำหรับการส่งน้ำมัน เพราะประชาชนคนอังกฤษต่างกังวลว่าจะขาดแคลนน้ำมัน ทำให้พากันแห่ไปเติมน้ำมันจนทำให้ปั๊มน้ำมันต่างๆ ไม่มีน้ำมันเหลือ ก่อนหน้านั้น ผู้คนก็แห่กันไปตุนอาหารจากซุปเปอร์มาร์เกตเพราะกลัวว่าอาหารจะขาดแคลน เหมือนเมื่อปีที่แล้วที่มีการปิดด่านชายแดน
แม้แต่แมคโดนัลด์และเคเอฟซี ก็เจอปัญหาเรื่องซัพพลายเชนทำให้ไม่สามารถเสิร์ฟบางเมนูหรือเครื่องดื่มบางประเภทได้ ฟาสต์ฟู้ดไก่ย่างบางแห่งถึงกับต้องปิดบางสาขาเพราะว่ามีไก่ไม่เพียงพอ
นี่เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นของการเบร็กซิท รัฐบาลของบอริส จอห์นสันยังต้องเร่งแก้ปัญหาอีกมากมายหลายอย่างที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤติการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมบริการ
บริษัทหลายแห่งต้องประกาศปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดให้มีผู้มาสมัครงานมากขึ้น การแข่งขันขึ้นค่าแรงก็ยิ่งทำให้อังกฤษต้องเจอกับภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 3 ครั้งแรกในรอบ 18 เดือน สมาพันธ์อุตสาหกรรมแห่งอังกฤษได้ออกมาเสนอให้รัฐบาลของนายจอห์นสันมีมาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่ยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน
ผลกระทบจากเบร็กซิตยังทำให้ห้างสรรพสินค้าชื่อดังอย่างมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ของอังกฤษประกาศปิดสาขาในฝรั่งเศสอย่างถาวร 11 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ยังเหลืออีก 9 แห่งที่ยังเปิดดำเนินการในสนามบินและสถานีรถไฟสำคัญ
ผู้บริหารของห้างบอกว่าเบร็กซิตทำให้การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารสดจากสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ เข้าสหภาพยุโรปยุ่งยากมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเอกสารรับรองคุณภาพสินค้าและศุลกากร ไม่เพียงแต่ในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่เมื่อเดือนเมษายน 2564 มาร์คแอนด์สเปนเซอร์ก็ยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์อาหารสดและอาหารแช่เย็นทั้งหมดสำหรับกิจการในสาธารณรัฐเช็กด้วย
เอาละซิเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ นี่เพราะผลแห่งการเย่อหยิ่งของอังกฤษว่าเป็นประเทศร่ำรวย ดิ้นรนทำเบร็กซิตจนสำเร็จโดยไม่แคร์ว่า ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปจะต้องเผชิญความยากลำบากอย่างไร ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพราะการระบาดใหญ่ ภาษาชาวบ้านแบบว่าไม่อยากเข้าไปร่วมแบกภาระประเทศยากจนอื่นๆในสหภาพยุโรปเลยชิ่งหนี คราวนี้เป็นผลกระทบหรือผลกรรมที่อังกฤษต้องรับไปเต็มๆ
สื่อท้องถิ่นหลายฉบับในยุโรป และสำนักข่าวอาร์ที(RussiaToday) ถ่ายทอดความรู้สึกของนักขับรถบรรทุกทั่วยุโรปว่า เข็ดไม่สนใจจะกลับเข้าไปทำงานกับอังกฤษอีก การพึ่งทหารขนส่งสินค้าและน้ำมันและแก๊สทำได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่อังกฤษมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับระบบเศรษฐกิจฐานรากของอังกฤษอย่างเจ็บแสบ คงต้องจับตากันต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีอังกฤษนายบอริส จอห์นสันจะจัดการแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวอย่างไร?