ปัญหาความยืดเยื้อในการชำระเงินค้างจ่ายระหว่างกทม.และBTS เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่า จะต้องมีการฟ้องร้องแน่นอน เพราะกทม.ไม่มีท่าทีตอบรับแต่อย่างใด ผลักไปให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ ทางฝ่ายรัฐบาลก็ถือเอา การเมืองเกรงใจพรรคร่วม ไม่ยอมตัดสินว่าอะไรผิดอะไระถูกให้ชัดเจน ปล่อยปัญหาคาราคาซังโดยไม่รับผิดชอบ ทั้งๆที่มีอำนาจตัดสินใจอยู่แล้ว ทำให้เรื่องต้องถึงโรงถึงศาล สะท้อนปัญหาธรรมาภิบาลของภาครัฐ ในการลงทุนร่วมกับเอกชนอย่างชัดเจน แน่นอนส่งผลต่อเครดิตความน่าเชื่อถือของภาครัฐ ทั้งรัฐบาลลุงตู่และกทม.อย่างไม่ต้องสงสัย ล่าสุด
BTS เปิดเผยแล้วว่าได้ฟ้องศาลปกครองตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมาทนแบกหนี้ค้างจ่ายจากกทม.กว่า 3 หมื่นล้านไม่ไหว ขอใช้สิทธิ์ตามกฎหมายทวงหนี้ก้อนแรก 1.2 หมื่นล้าน
วันที่ 30 กันยายน 2564 กลุ่มบีทีเอสดำเนินการฟ้องร้องกรุงเทพมหานคร (กทม.)ต่อศาลปกครอง ทวงหนี้ค่าเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า ได้นำกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – เคหะสมุทรปราการ เป็นจำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางแล้วเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา และได้รับคำฟ้องเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 โดยอยู่ระหว่างรอ กทม.และบจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ทำคำชี้แจงตอบกลับมา โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ยังไม่ได้รวมการจ้างก่อสร้างงานระบบ ที่มีมูลหนี้รวมอีก 20,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะฟ้องร้องในกรณีนี้แน่นอนในระยะถัดไป
“ซึ่งการที่กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถนี้ถือว่ากระทบกับบริษัทมาก เพราะบริษัทต้องไปหาแหล่งเงินกู้เพื่อมาจ่ายค่าเดินรถในส่วนนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนจะคุยกับกทม.เพื่อปรับขึ้นค่าโดยสารหรือไม่ เป็นเรื่องของกทม. โดยตอนนี้ยังวิ่งให้บริการฟรีในช่วงต่อขยายดังกล่าวา”
ส่วนกรณีหากมีการพิจารณาโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแลนั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องของนโยบาย แต่หากมีการโอนให้รฟม. สัญญาที่ BTSC ทำกับ กทม. ก็จะต้องถูกโอนไปด้วย
สำหรับยอดหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบีทีเอส แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1.หนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายตั้งแต่เดือน เม.ย.2560 จนถึงเดือน ก.ค.2564 ประมาณ 12,000 ล้านบาท
2.หนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ประมาณ 20,000 ล้านบาท
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า จากการติดตามการประชุมสภากรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2564 ทราบว่าสภากรุงเทพมหานครปฏิเสธการใช้งบประมาณของกรุงเทพมหานครมาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหาร 3 ทางเลือก ประกอบด้วย
1.การขอให้รัฐบาลสนับสนุน
2.การเปิดร่วมลงทุนกับเอกชนตามแนวทางของคำสั่ง คสช.
3.การโอนโครงการคืนกลับให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริหารจัดการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้รับการติดต่อจากทางกรุงเทพมหานครหรือบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหา
ด้านกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบกรณีที่ BTSC ยื่นฟ้องกับศาลปกครองแล้ว อยู่ระหว่างทำหนังสือแก้คำฟ้อง โดยจะขอขยายคำฟ้องออกไปอีก 15 วัน ซึ่งศาลรับเรื่องไว้ แต่ยังไม่ได้รับเป็นคดีความ ซึ่งการฟ้องร้องครั้งนี้เพื่อทวงหนี้ทั้งเดินรถและจ้างก่อสร้างงานระบบ วงเงินรวมประมาณ 3.2 หมื่นล้าน
ทางออกสำหรับปัญหานี้ กทม.กล่าวว่า ต้องรอให้การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยผู้ที่จะพิจารณาถึงมาตรการและช่องทางอื่นๆ ต้องขึ้นอยู่กับพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.เป็นหลัก
“ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ก็เคยนำประเด็นนี้เสนอที่ประชุมสภากทม. เพื่อขอวงเงินจากสภาเพื่อมาจ่ายหนี้ในส่วนนี้ แต่ถูกปฏิเสธไปแล้ว เพราะเห็นว่าต้องนำวงเงินงบประมาณไปใช้ด้านอื่นด้วย”
กรณีการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ได้ยืดเยื้อมามากกว่า 2 ปี นับจากที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 ให้กระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์และการต่อสัญญา
ทั้งนี้ การเจรจาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ได้นำภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานครจ้างบีทีเอสเดินรถส่วนต่อขยายระยะที่ 1 สะพานตากสิน-บางหว้า และอ่อนนุช-แบริ่ง รวมถึงระยะที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พร้อมกับภาระหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) มาร่วมพิจารณาด้วย โดยมีหนี้ถึงปัจจุบันประมาณ 32,000 ล้านบาท
ในขณะที่ร่างต่อสัญญาสัมปทานไม่มีความคืบหน้าในการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินั้น บีทีเอสได้ติดตามภาระหนี้จากกระทรวงมหาดไทยมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และนำมาสู่การการร้องศาลปกครองเพื่อใช้สิทธิทางกฎหมาย เป็นเรื่องธรรมภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ที่บริษัทบีทีเอสฯต้องมีความรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น ขณะที่ รัฐบาลและกทม.ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบกับการบริหารจัดการการลงทุนร่วมเอกชน เป็นหนี้ต้องจ่าย