ฟัง “อดีตตลก.ศาลรธน.” มองต่างมุม ดร.เจษฎ์ เผยชัดนับเวลา 8ปี นายกฯช่วงไหน?

9981

จากที่ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  ฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ให้ความเห็นถึงการดำรงตำแหน่งของบิ๊กตู่ ในตำแหน่งนายกฯครบวาระ8ปีหรือไม่ และช่วงเวลาไหนนั้น

ทั้งนี้ ดร.เจษฎ์ ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปี ไม่ได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่ไม่ให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง คือ ไม่นับรวมรักษาการ

“แต่กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เคยรักษาการ ตามมาตรา 264 ดังนั้น แปลว่าเป็นคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. คือ ต้องนับอายุตั้งแต่ปี 2557 ที่เข้าควบคุมการบริหารประเทศ ซึ่งถือเป็นประการแรก

ประการที่สอง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ก็เพื่อไม่ให้ผูกขาดในอำนาจ และประการที่สาม ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคท้าย ก็กำหนดไว้เช่นกันว่า นายกฯอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งถือเป็นทราบกันดีอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าให้นับอายุความเป็นนายกฯของพล.อ.ประยุทธ์ จะสิ้นสุดลงในเดือน ส.ค. 2565” ดร.เจษฎ์ กล่าว

ขณะที่ ศ.จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ออกมาพูดถึงกรณีนี้ด้วย ว่า เรื่องโอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มีปัญหาเพราะเขียนการนับวาระไม่ชัดเจน ทำให้ต้องไปดูองค์ประกอบของมาตราอื่นๆมาผนวก ซึ่งจะพบว่า มาตรา 264 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ กำหนดรอยต่อไว้แล้วว่า

“ให้คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี2560 ประกาศใช้ ถือเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ (ปี2560) ซึ่งคำว่า “ตามรัฐธรรมนูญนี้” เป็นการกำหนดเฉพาะเจาะจงชัดเจนว่าไม่ได้หมายรวมรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อีกทั้งเป็นการชี้ว่าคณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี2560 ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี ตามคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี2560 จนเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้จึงได้เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560

ดังนั้น เงื่อนไขการเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ควรต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญปี2560 บัญญัติไว้ โอกาสการเป็นนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดไว้ 8ปีก็หมายถึง 8ปี ตามรัฐธรรมนูญปี2560 การเป็นนายกรัฐมนตรี ของพลเอกประยุทธ์ ก็จะนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้คือ 6 เมษายน 2560

ส่วนมุมมองที่ว่าควรนับการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในปี2562 เพราะก่อนหน้านี้เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวนั้น ศ.จรัญ ชี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 บัญญัติชัดเจนอยู่แล้วว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี2560ประกาศใช้ ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นหลังการเลือกตั้งปี2562 ดังนั้นมุมมองนี้ ขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชัดเจน” ศ.จรัญ กล่าว