นายกฯลั่นกลางวงปาฐกถา! นำพาปท.ไปต่อ-อยู่ใช้แผนพัฒนาศก.ถึงปี66 หมดวาระรบ.

1423

จากกรณีที่วันนี้ (22 กันยายน 2564) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาในงาน Mission to Traform 13 หมุดหมาย “พลิกโฉมประเทศไทย”

โดยระบุว่า  ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ต่างๆจะกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วซึ่งรัฐบาลพยายามใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการคลี่คลายวิกฤตต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วที่สุด

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 นับเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่สะท้อนว่าการที่ประเทศของเราจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงนั้น จะต้องมีความพร้อมที่จะเผชิญกับความผันผวนต่าง ๆ อย่างรัดกุม และสมดุลในทุกด้าน และสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถรับมือได้ก็คือการมีแผนการพัฒนาประเทศที่มีเป้าหมาย อย่างชัดเจน มีแนวทางดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแผนที่ดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้มาร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแผนการรับมือกับความท้าทายของประเทศซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯภายหลังจากประเทศมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนปฏิบัติการในช่วงทุกระยะ 5 ปีของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาประเทศในทุก 5 ปีเป็นอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผนในช่วง 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 และจะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 เป็นแผน 5 ปีในระยะที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ

ซึ่งการประชุมประจำปีของสภาพัฒน์ในวันนี้จะเป็นเวทีระดับประเทศที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างฉบับที่ 13 ซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 2566 ถึง 2570 เพื่อที่จะช่วยกันกำหนดเป้าหมายที่จะเดินต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้านำพาประเทศไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติ ความคิดเห็นของทุกคนจึงเป็นความสำคัญในการกำหนดประเทศ ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการระดมความคิดเห็นต่างๆโดยจะนำไปปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และตรงต่อความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด

ดังนั้นการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศของเราในอนาคตจำเป็นจะต้องพิจารณาทั้งบริบทการเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศควบคู่กับการประเมินเงื่อนไขปัจจัยภายในหรือสภาพแวดล้อมและศักยภาพของประเทศ ทั้งที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อนเพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกทิศทางและแนวทางที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุดสำหรับประเทศ

ในการที่จะก้าวต่อไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่ผันผวนรวดเร็วของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้สามารถรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่าง Mega Trend ไปพร้อมกับการเตรียมสภาพแวดล้อมของประเทศให้มีความพร้อมและเลือกออกแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งหากมีการวางแผนในการแก้ไขและบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวเป็นอย่างดีอาจจะเปลี่ยนความเสี่ยงนั้นให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ ทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคม

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นโอกาสและความเสี่ยงการขับเคลื่อนประเทศไทย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของคนไทยทุกคน รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าวและพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะควบคุมสถานการณ์โดยระยะสั้นรัฐบาลได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงเร่งจัดหาการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วถึงและรวดเร็วเพื่อลดความเจ็บปวดรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ทำให้เกิดข้อติดขัดต่อการพัฒนาประเทศตามแนวทางที่เคยวางแผนไว้ภายใต้สถานการณ์ปกติ

รัฐบาลจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปสู่เป้าหมายในระยะยาวจึงและสนับสนุนให้มีการเพิ่มเติมแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ โควิด -19 พ. ศ. 2564 -2565 ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศจากการได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมไม่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายระยะยาว