อีอีซีเป็นตัวจักรสำคัญที่ใช้ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ เป็นความหวังสร้างโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย บิ๊กตู่ลงพื้นที่ภาคตะวันออก แหลมฉบัง ชลบุรี เร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์พร้อมพบปะนักลงทุนรายใหญ่ 16 บริษัท อ้อนลงทุนหนุนเศรษฐกิจฟื้น พร้อมสร้างความมั่นใจรัฐบาลทำงานโปร่งใสเป็นธรรม ดูแลนักลงทุนอย่างดีที่สุด
วันนี้ (1 ต.ค.63) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมพร้อมมอบนโยบายการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม. นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการ EEC เลขาธิการ BOI ผู้บริหารระดับสูง (CEO ) จากบริษัทชั้นนำของไทยและต่างประเทศ ร่วมหารือแนวทางการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
พบ16ผู้ลงทุนรายใหญ่กล่อมลงทุน“อีอีซี”
นายกรัฐมนตรีฯ ตรวจความคืบหน้าการเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ พร้อมรับรถไฟฟ้าโมโนเรลขบวนแรก โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ในการนี้บีโอไอ ได้จัดทัพนักธุรกิจรายใหญ่ 16 ราย ประชุมร่วมนายกฯ เรียกความเชื่อมั่น หวังเร่งเครื่องอีอีซีขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่ยอดเงินลงทุน 6 เดือนมากกว่า 8.54 หมื่นล้านบาท
น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับสำนักงานอีอีซี (สกพอ.) ได้เชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่อีอีซี จำนวน 16 ราย ซึ่งมีผู้ประกอบการจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรกลขั้นสูง เคมีภัณฑ์ขั้นสูง โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม เข้าพบและประชุมร่วมกับ นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสตรวจเยี่ยมพื้นที่ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
เมื่อเดือนม.ค. 2563 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ออกแพ็คเกจใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยปรับสิทธิประโยชน์และเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายให้ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่
- กิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ตามสิทธิพื้นฐานเกือบทุกประเภท (กลุ่ม A1, A2, A3) ยกเว้นกิจการบางกลุ่ม เช่น กิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับเรื่องที่ตั้งสถานประกอบการซึ่งไม่อยู่ใน 3 จังหวัดอีอีซี เป็นต้น
- กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล และ 3. กิจการที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมใน 2 ทางเลือก ได้แก่ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้ โดยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติที่ได้รับตั้งแต่ 1-3 ปี แล้วแต่กรณี
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-มิ.ย. 63) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีจำนวนทั้งสิ้น 225 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี จำนวน 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยอง จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท
สำหรับผู้ประกอบการ16 รายที่เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี อาทิ บริษัท ปตท. , บริษัทปูนซิเมนต์ไทย,บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น , บริษัทซีเนียร์ แอโรสเปซ(ไทยแลนด์) ,บริษัทมิตซูบิชิมอร์สเตอร์ (ประเทศไทย) ,บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำ, บริษัทดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ เป็นต้น
อีอีซีขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วง COVID-19
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีฯขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่นและมีการขยายการลงทุนในประเทศไทย ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ทุกการลงทุน ซึ่งไทยนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมาใช้ในภาคธุรกิจเป็นประเทศแรกในภูมิภาคด้วย รวมทั้งการวางรากฐานการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ตามทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ พัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
การเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางเครือข่ายโลจิสติกส์ของภูมิภาคทั้งการขนส่งสินค้าและการสัญจร ที่ประชุมได้มีการรายงานแผนงานดังนี้:
-แผนงานเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ ไดแก่โครงการท่าเรือบก (Dry Port) ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรทางถนน ลดความคับคั่งของท่าเรือ ด้วยการขนส่ง 2 ระบบ โดยเฉพาะทางราง
–Land Bridge:โครงการเชื่อมโยงอ่าวไทย-อันดามัน หรือ ด้วยท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งไทยเชื่อมด้วยถนน Motorway ราง และรถไฟ เพื่อประโยชน์ในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ การขนส่งของประเทศและสามารถขยายศักยถาพเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้
–โครงการสะพานไทย
ทั้งนี้ใช้รูปแบบการลงทุนแบบ PPP เพื่อประหยัดงบประมาณจะได้นำเงินไปช่วยเหลือประชาชนด้านอื่นๆ และเตรียมพร้อมประเทศ เสริมความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สามารถเปิดรับเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านไปได้ในทันที