โควิดทุบรายได้หด!?! อุตฯการบินไทยต้องปรับตัว บินในประเทศมากขึ้น ดันนอนคอร์เสริมแกร่ง

1851

คมนาคมยอมรับโควิดทุบอุตฯการบินไทยทรุด ฉุดรายได้ 9 สายการบินของไทยปีนี้หาย 3 แสนล้านบาท ด้านทอท.อ่วมปีหน้าสภาพคล่อง7หมื่นล้านหมดเกลี้ยง ส่วนการบินไทยฯอยู่ในระหว่างยื่นแผนฟื้นฟู ธุรกิจการบินทั่วโลกสาหัสเหมือนกัน ฟื้นตัวยากเพราะโรคยังระบาด คนไม่เดินทาง จำเป็นต้องปรับตัว รองรับการเดินทางภายในประเทศให้มากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง และหาจุดแข็งธุรกิจนอกเหนือการบิน(นอนคอร์) ประคับประคองเสริมรายได้ สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ชนิดที่ว่าแม้ไม่ต้องบินก็ยังอยู่ได้จึงจะรอดไปจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งยังไม่มีใครคาดได้ว่าเมื่อไหร่

ประสานเสียงอุตฯการบินอาการยังร่อแร่

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายในงานสัมมนาอนาคตของอุตสาหกรรมการบินของชาติ วิกฤติ จุดเปลี่ยน และโอกาส” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมนักบินไทย ว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้เข้าประเทศเกือบ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งเกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวผ่านท่าอากาศยาน 38 แห่ง มีปริมาณผู้โดยสารกว่า 165 ล้านคน มีเที่ยวบินกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน และมีนักท่องเที่ยวกว่า 39.8 ล้านคน

วิกฤติโควิค -19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบินอย่างมาก  ข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (AIATA) ประเมินว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้การเดินทางและการขนส่งทางอากาศทั่วโลกลดลงรวม 52.9% เฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะลดลงมากที่สุดถึง 59.9% และกระทบต่อรายได้อุตสาหกรรมการบินทั่วโลก สูญรายได้มากถึง 3.14 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 9.94 ล้านล้านบาท โดยการเดินทางระหว่างประเทศจะฟื้นตัวเพียง 50% ในไตรมาส 4 ของปีนี้

กระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 – 3 ปีกว่าจะเห็นการฟื้นตัว และอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี คือประมาณปี 2568 จึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ โดยภาครัฐในฐานะผู้กำกับและส่งเสริมธุรกิจการบิน จะต้องช่วยทำให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งช่วยแก้ไขและอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบต่างๆ

“ไม่อยากให้อุตสาหกรรมการบินของไทยท้อแท้ เพราะรัฐบาลพร้อมสนับสนุนและแก้ปัญหา เนื่องจากอุตสาหกรรการบินเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศ ราว 2 ล้านล้านบาท ในปี 2562 กระทรวงคมนาคม คาดว่าอุตสาหกรรมการบินจะเริ่มฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 2-3 ปี และจะกลับมาปกติ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือภายในปี 2568” นายถาวรกล่าว

การบินพลเรือนชี้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแน่หลังโควิด

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด -19 กพท.เชื่อว่าวิกฤตินี้จะยังอยู่อีกระยะ โดยเชื่อว่าสายการบินจะเริ่มปรับตัวได้ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งแม้ว่าผู้ประกอบการและผู้โดยสารจะปรับตัวกลับมาเดินทาง แต่จะเป็นการเดินทางที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแตกต่างจากเดิม

ปี 2563 หลังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 กพท.คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะอยู่ที่ 52.8 ล้านคน ปรับลดลง 112.2 ล้านคน หรือลดลง 68% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 165 ล้านคน โดยคาดว่าผู้โดยสารในประเทศ จะมีจำนวน 36.7 ล้านคน ปรับลดลง 39.5 ล้านคน หรือลดลง 51.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 76.2 ล้านคน ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 16.1 ล้านคน ปรับลดลง 72.7 ล้านคน หรือลดลง 81.8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 88.8 ล้านคน

ทั้งนี้ กพท.ประเมินว่าอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับมือ บริหารจัดการแผนแบบวันต่อวัน โดยขณะนี้ก็เริ่มเห็นการปรับตัวเหล่านั้นแล้ว หลายสายการบินเร่งเพิ่มรายได้เส้นทางภายในประเทศ โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้โดยสารจะกลับมาเดินทางสู่สภาวะปกติในปี 2566

ประมาณการณ์รายได้สายการบินสัญชาติไทย 9 สายการบิน ในปี 2563 คาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ 8.28 หมื่นล้านบาท ปรับลดลง 2.29แสนล้านบาท หรือลดลง 73% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้รวม 3.12 แสนล้านบาท 

ผลกระทบโควิดลามธุรกิจเกี่ยวเนื่องต้องประคับประคอง

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ถือเป็นวิกฤติที่รวดเร็ว รุนแรง และยาวนาน ซึ่งเกิดเป็นผลกระทบอย่างชัดเจนไม่เฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมการบิน แต่เกี่ยวโยงไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านค้าภายในสนามบิน เบื้องต้น ประเมินว่า เดือน มี.ค.2565 สายการบินต่างๆ จะเริ่มกลับมาบินปกติ เม.ย.2565 และ ต.ค.2565 จะเป็นเดือนแรกที่ผู้โดยสารกลับมาเท่าปี 2562 

“เราพยายามไม่ให้ฟันเฟืองทั้งอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ล้มหาย เพราะจะเป็นผลกระทบไปหมด โดยวิกฤติโควิด -19 ครั้งนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าจะฟื้นเป็นรูปตัว K คืออุตสาหกรรมบางส่วนจะฟื้นกลับ และบางส่วนอาจจะดิ่งลง”

การบินไทย-ทำทุกทางเพื่อบินต่อ?

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทยจำกัด(มหาชน) กล่าวถึงทางรอดและการปรับตัวของอุตสาหกรรมการบินในยุค Disruptions โดยระบุว่า การบินไทยมีแผนกลยุทธ์ธุรกิจการบินเพื่อความอยู่รอดช่วงโควิด -19 มุ่งเน้นลดค่าใช้จ่าย หารายได้เสริมจากธุรกิจที่อยู่นอกเหนือการบิน (นอนคอร์) อาทิ ธุรกิจครัวการบิน คาร์โก้ และศูนย์ซ่อมอากาศยาน

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด -19 การบินไทยมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งภายหลังการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามขั้นตอนของศาลล้มละลาย ถือเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับองค์กร ทำให้สามารถพักชำระหนี้อัตโนมัติกับเจ้าหนี้ หรือAutomatic Stay และการบินไทยสามารถรักษาสภาพคล่องดังกล่าวเพื่อนำมา

บริหารจัดการภายในองค์กรได้ โดยหลังจากนี้ยังจำเป็นที่ต้องเร่งหารายได้ เพื่อรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย โดยยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่ตัดสินใจเปิดโครงการสมัครใจลาออก

ความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ถึงวันที่ 2 พ.ย.นี้ โดยหลังจากนั้นจะใช้เวลาอีกราว 14 วัน เพื่อแย้งหนี้และตรวจสอบยอดหนี้ที่แท้จริง ก่อนจะยื่นเสนอแผนฟื้นฟูไปยังศาลล้มละลายกลางในช่วงปลายไตรมาส 4 หรือ ต้นไตรมาส 1 ปีหน้า จึงจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการอย่างสมบูรณ์

“ตอนนี้เจ้าหนี้รายใหญ่ได้ยื่นคำร้องรับชำระหนี้แล้ว อาทิ เจ้าหนี้แบงก์ หุ้นกู้ และเจ้าหนี้ประเภทสหกรณ์ ซึ่งเฉลี่ยต่อวันที่มีเจ้าหนี้เข้ามายื่นคำร้อง ในช่วงแรกอยู่ที่วันละ 1 พันราย และปัจจุบันอยู่ที่วันละ 100 ราย ปัจจุบันการบินไทยก็ทยอยทำหนังสือแจ้งเจ้าหนี้ เพื่อให้เข้ามาดำเนินการยื่นคำร้องครบตามจำนวน”