ก.พาณิชย์เปิดยุทธศาสตร์การค้าไทย!?!5 ปี 5 แผนดันนวตกรรม-เทคโนฯหนุนไทยแข่งโลก คนไทยล้ำยุค!!

1314

วันนี้มาฟังแนวทางหารายได้ของรัฐที่จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด หรืออาจจะต้องอยู่ร่วมกับโควิด ว่ารัฐบาลจะมีแผนรองรับไว้อย่างไร แน่นอนแกนนำสำคัญในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีผลงานหนุนการส่งออก ได้กลายเป็นช่องทางสร้างรายได้หลักของประเทศในช่วงฟันฝ่าโควิด ทั้งนี้หน่วยงานรับผิดชอบได้เปิดรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ ยุทธศาสตร์การค้าไทย 5 ปี  ภายใต้แผน 5 ยุทธศาสตร์หลัก และใกล้จะนำเสนอนายจุรินทร์ฯที่กำลังง่วนกับการเดินสายพบนานาชาติ ผลักดันส่งออกเต็มที่

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกไทย และทิศทางในอนาคตขณะนี้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

รมว.พาณิชย์มองว่า การส่งออกไทยในไตรมาส 4 ปีนี้ยังคงเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่ประเทศไทยมีปัจจัยบวกจากการเร่งกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และแผนเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3

การเรียนรู้จากที่ผ่านมา ทำให้จัดการอุปสรรคเร็วขึ้น ภาคเอกชนมองโควิด-19 เป็นเรื่องระยะยาว และปรับสู่นิวนอร์มอล แต่ยังมีความไม่แน่นอน หากทั่วโลกไม่สามารถควบคุมการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอุปทาน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมปิดชั่วคราว ขาดแคลนแรงงาน ขาดแคลนวัตถุดิบส่วนประกอบ และการขนส่งล่าช้าและชะงักงัน อาจส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง

เทียบกับประเทศคู่แข่งต่างๆ ในโลก สถานะการส่งออกไทยอยู่ในอันดับแล้ว การส่งออกของไทยเติบโตสอดคล้องกับการส่งออกของโลก เพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เชื่อมโยงในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างเดือน ก.ค. การส่งออกของไทยขยายตัว 20.27% สูงกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น เวียดนาม ขยายตัว 11.9% จีน ขยายตัว 18.9% และสิงคโปร์ ขยายตัว 19.0% การส่งออกของไทยขยายตัวสูงกว่าทั้ง 3 ประเทศ มาต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว

เพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศ นายจุรินทร์เปิดแนวทางผลักดัน 4 เรื่อง คือ 

1.ถ้าโควิดอยู่กับโลกและประเทศไทยอีกนาน เราต้องคิดและต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิดไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไร ผมยืนยันทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน ยึดหลักรัฐหนุนเอกชน เพราะเขาคือ ทัพหน้าทำรายได้เข้าประเทศ ถ้าเป็นทีมฟุตบอลเอกชนต้องเป็นกองหน้า ทำหน้าที่ยิงประตู รัฐบาลเป็นแบ๊ก เพื่อดันการส่งออกและฟื้นเศรษฐกิจ 

2.ผนึกการทำงานทีมเซลส์แมนจังหวัดคือ พาณิชย์จังหวัด กับทีมเซลส์แมนประเทศคือ ทูตพาณิชย์ จัดเป็น 77 ทีม และทูตพาณิชย์ 50-60 ประเทศเป็นหัวเรือใหญ่จับมือร่วมกับนักธุรกิจการค้าส่งออก

3.ภาคเอกชนไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์โลก โดยเฉพาะโลกจะใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเข้มข้นหนักข้อขึ้น มาตรการใหม่จึงเกิดขึ้นคือ มาตรการที่มิใช่ภาษีมาเป็นกำแพงกั้นสินค้าที่ไปจากประเทศคู่แข่งหรือประเทศ อื่นๆ เราต้องจับตาสิ่งเหล่านี้ใกล้ชิด ต้องรู้จักและรับมือด้านมาตรการสิ่งแวดล้อม มาตรการแรงงาน มาตราการสิทธิมนุษยชน สุขอนามัย ล่าสุดภาษีคาร์บอน เป็นต้น เรื่องความมั่นคง การเอาปัจจัยเศรษฐกิจมาผูกมัดติดกับปัจจัยทางการเมืองและกลายเป็นปัจจัยปกป้องกีดกันทางการค้า ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เราจะอยู่ตรงไหนคือ สิ่งที่เราต้องคิด ทุกคนตอบตรงกันว่าไทยต้องผนึกกำลังกับอาเซียน

4.อยากย้ำให้ภาคเอกชนเร่งศึกษาหาประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำสัญญาการค้าระบบพหุภาคี โดยเฉพาะอาร์เซ็ปตอนนี้อยู่ในขั้นตอนให้สัตยาบันประเทศไทย ไม่น่าจะช้ากว่าเดือนพฤศจิกายนปีนี้ หวังว่าจะบังคับใช้ได้ต้นปีหน้า เราต้องรีบศึกษาข้อตกลงอะไรเป็นอุปสรรคและอะไรได้เปรียบ

นอกจากนี้นายจุรินทร์ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้า 5 ปีซึ่งจะมีขึ้นเป็นครั้งแรก โดยให้ประสานกับภาคเอกชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นก่อนจะออกเป็นยุทธศาสตร์การค้าที่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

มาฟังผู้รับผิดชอบการดำเนินงานตามนโยบายของรมว.พาณิชย์ซึ่งคาดว่าจะได้นำเสนอยังคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าของไทยปี 2565-70 ว่า สนค.ได้ร่วมกับสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางการค้า ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศ เพื่อจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการขับเคลื่อนการค้าของชาติ พ.ศ.2565–2570

โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 โดยเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วหลายครั้ง ขณะนี้ยังเปิดรับฟังความเห็นอยู่ และเมื่อรับฟังความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว จะนำความเห็นเหล่านี้มาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์และนำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป 

สำหรับร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ การค้าไทยเข้มแข็ง เติบโตอย่างทั่วถึง และยั่งยืน รองรับโอกาสการค้าโลก 

ภายใต้แผน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 

1.ขับเคลื่อนการค้าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยให้ผู้ประกอบการสร้าง ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องตลาดโลก ดึงดูดการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมศักยภาพ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัล 

2.พัฒนาโครางสร้างพื้นฐานการค้าให้เข้มแข็ง โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสขยายตลาด ปรับปรุงกฎระเบียบให้สะดวกขึ้น เป็นภาระกับผู้ประกอบการน้อยลง และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการและขับเคลื่อนประเด็นการค้า

3.ส่งเสริมการค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยสร้างโอกาสทางการตลาดและเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า พัฒนาตลาดและช่องทางการค้าในอาเซียน สร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการของไทย และส่งเสริมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีและธุรกิจบริการสมัยใหม

4.ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดยขยายตลาดและช่องทางการค้าในประเทศ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมการใช้สินค้าและบริการที่ผลิตได้ในประเทศ5.พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทุนมนุษย์ โดยพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมศักยภาพ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง  

ยุทธศาสตร์ที่จัดทำขึ้นได้สะท้อนความท้าทาย ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเน้นการสร้างขีดความสามารถและความพร้อมที่จะรับมือ ฟื้นตัว และใช้ประโยชน์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง ต่อยอดและใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการที่โดดเด่นของไทย รวมถึงการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ ด้วยการใช้นวัตกรรม และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และยังเน้นพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเกิดความยั่งยืน