สุพัฒนพงษ์การันตี!?! เศรษฐกิจปลายปีพลิกบวก ทุ่ม 4 แสนล้านกระตุ้นใช้จ่าย

1120

การอภิปรายในสภาผ่านไปแล้ว แต่ควันหลงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเศรษฐกิจไทยยังมีให้เห็น โดยเฉพาะผู้มีมุมมองประเทศเป็นลบทุกเรื่องอย่างพรรคฝ่ายค้าน นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ที่ยึดถือ ตัวเลขเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ขององค์กรต่างชาติที่เน้นเอาแต่มุมลบมาเป็นตัวตั้ง จึงไม่สนใจข้อมูลเชิงประจักษ์ของเศรษฐกิจไทย ว่ามีทั้งจุดด้อยและจุดเด่น  แม้แต่การส่งออกดีแค่ไหนก็ยังหาจุดมาถล่มว่า จะแย่แน่นอน อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ไม่หวั่นไหว 

“สุพัฒนพงษ์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากนี้และจะเติบโตเป็นบวกได้แม้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายนัก ยอมรับยังเพราะขาดรายได้หลักจากท่องเที่ยวและภาคบริการที่รัฐกำลังเร่งปิดหลุมดำนี้อยู่ ปลื้มยอดขอรับส่งเสริมฯ ลงทุนปีนี้มีลุ้น 6 แสนล้านบาท ส่งออกและสินค้าผ่านแดน-ชายแดนยังโตได้อีก เล็งอัดงบหนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 4 แสนล้านบาทกระตุ้นภาคใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ เศรษฐกิจไทยใครชี้ชะตา ว่า เศรษฐกิจไทยหลังมาตรการผ่อนคลายการล็อกดาวน์ที่มีผล 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไปจะมีแนวโน้มที่ค่อยๆ ฟื้นตัวมากขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือ 

การจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้คนไทยที่รัฐบาลวางไว้ที่จะครบ 50 ล้านคนในเดือน ต.ค.นี้ และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงสิ้นปี 

-ประกอบกับการส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่อง ภาคการส่งออกก็ขยายตัวได้เป็นอย่างดี โตได้ในเลขสองหลักกว่า 10% จึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะโตเป็นบวกได้ แต่อาจไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ในช่วงต้นปีว่าจะเติบโต 3-4% เนื่องจากไทยยังต้องเผชิญหลุมดำรายได้ที่ขาดไปจากการท่องเที่ยวและภาคบริการ

-ขณะที่ความมั่นคงของเศรษฐกิจไทยในด้านอื่น ๆ ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีการปรับตัวได้เป็นอย่างดี มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สะท้อนจากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ครึ่งปีมีกำไรรวมกว่า 5 แสนล้านบาท ดีกว่าปีก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า “โควิด-19 ได้รับผลกระทบทั่วโลก ไทยเองเผชิญมาตั้งแต่ปี 2563 เป็นเวลา 18 เดือนที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันมา และวันนี้ต่างจาก เม.ย. ปี 63 ที่เราไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 แม้จะไม่ได้ลดการติดเชื้อมากแต่ลดการสูญเสียได้ชัดเจน หากเรารักษาระดับการติดเชื้อที่ไม่ให้เพิ่มขึ้นทุกอย่างก็จะค่อยๆ ฟื้นเศรษฐกิจไตรมาส 3-4 เรายังโตได้ต่อ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยคนที่ชี้ชะตาไม่ใช่รัฐ เอกชน หรือประชาชนเพียงฝ่ายเดียวแต่เป็นเราทุกคน และเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้ด้วยดีด้วยความร่วมมือเช่นวิกฤตที่ผ่านๆมา” 

-นอกจากนี้มาตรการดูแลประชาชนของรัฐ ได้กระตุ้นการอุปโภคบริโภคภายในประเทศของประชาชนดีขึ้นตามลำดับ เช่น “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” หลังสถานการณ์ผ่อนคลายก็เชื่อว่าจะนำกลับมาใช้ได้มากขึ้น 

สัญญาณการลงทุนที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 6 เดือนแรกปี 2564 คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 386,200 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 158% หากประคับประคองที่เหลือให้ดีการขอรับส่งเสริมฯ อาจจะสูงถึงระดับ 600,000 ล้านบาทได้ และจะนับเป็นตัวเลขที่อาจสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องรอคอยคือรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ไทยทำให้รายได้ส่วนนี้ขาดแคลน เพราะต้องพึ่งพิงการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาจับจ่ายซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ที่โลกจะกลับสู่ภาวะปกติได้ 

แต่ไทยเองไม่ได้ย่อท้อ ได้มุ่งเน้นการค่อยๆ เปิดประเทศโดยนำร่องจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อ 1 ก.ค.เพื่อเร่งเติมเต็มรายได้ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตกว่า 2 หมื่นคน มียอดจองห้องพักกว่า 5 แสนห้อง รายจ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาท รายได้สะสม 1,634 ล้านบาท ทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถกลับมาฟื้นตัวสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบด้านการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดูแลด้านสาธารณสุขเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และพร้อมต่อการเปิดประเทศเต็มรูปแบบฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้ต่อไป

ทั้งนี้โครงการแซนด์บ็อกซ์ได้กลายเป็นต้นแบบในการเปิดประเทศให้กับหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย  

-ขณะที่ภาครัฐเองได้เร่งดำเนินการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะการใช้จ่ายภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ

“ตอนนี้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว ผลสำฤทธิ์ของวัคซีนพิสูจน์ได้ชัดว่าเป็นประโยชน์ แม้ว่าจะลดการระบาดได้ไม่เต็มที่ แต่ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก ถ้ามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพรัฐบาลก็ต้องจัดหามาเพิ่ม และวันหนึ่งโควิด-19 ก็จะเป็นเพียงโรคประจำถิ่น ที่เราสามารถป้องกันดูแลตัวเองได้  ส่วนการช่วยเหลือประชาชนตลอด 18 เดือนของการแพร่ระบาด รัฐบาลมีมาตรการออกมาเยอะมาก รวมเป็นเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท ในการช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านความทุกข์ยาก ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ 

โดยปัจจุบันยังมีมาตรการเดิมที่ดำเนินการอยู่ และมาตรการใหม่ที่จะเติมเข้าไป จากเงินกู้ใหม่ 5 แสนล้านบาท ที่ยังมีเงินเหลืออีก 4 แสนล้านบาท จึงอยากขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเศรษฐกิจของไทย เสถียรภาพการเงิน อันดับความน่าเชื่อถือ ความพร้อมของธนาคารพาณิชย์ที่ยังเข้มแข็งดี ตรงนี้จะเป็นจะจุดสำคัญที่ทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อพ้นโควิด-19 แล้ว ไทยยังมีความเข้มแข็ง มีรากฐานที่จะเติบโตต่อไปได้ ไม่ได้อ่อนแอจนปวกเปียก หนี้สินไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น”