จีนเริ่มวางรางรถไฟจากหลินชาง ผ่านชายแดนชิงส่วยเหอ มาถึงล่าเสี้ยว เป็นข้อต่อสำคัญบนเส้นทางเชื่อมสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุดของจีน วางอนาคตเมื่อสินค้าจากมหาสมุทรอินเดียขึ้นฝั่งที่ยะไข่ จะใช้เวลาเพียง 3 วัน ส่งข้ามชายแดนขึ้นไปถึงเฉิงตู เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์โครงการ Belt and Road Initiative หรือ BRI เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในเอเชียซึ่งได้รับส่วนแบ่งทางการเงินที่มีมูลค่ามหาศาล ตามข้อมูลของ Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูล โครงสร้างพื้นฐานในเอเชียที่จีนร่วมสร้าง มีมูลค่าเกิน 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในไตรมาสแรกของปี 2020
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีเริ่มต้นวางรางรถไฟจากท่าเรือบก (Dry Port) ในจังหวัดหลินชาง มณฑลยูนนาน ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่พม่าที่ชิงส่วยเหอ ชายแดนรัฐชาน-จีน ในเขตปกครองตนเองโกก้าง ระยะทางยาวประมาณ 150 กิโลเมตร
ทางรถไฟสายนี้เป็น 1 ในเส้นทางยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ที่สำคัญ ตามข้อริเริ่ม 1 แถบ 1 เส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เพราะเป็นทางเชื่อมแผ่นดินใหญ่จีน ออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่สั้นที่สุด
เบื้องต้น ทางรถไฟจากหลินชาง เมื่อเข้าสู่พม่าที่ชิงส่วยเหอแล้ว จะวิ่งผ่านเมืองกุ๋นโหลง แสนหวี ไปบรรจบกับทางรถไฟอีกเส้นหนึ่งที่จีนกำลังเตรียมสร้างมาจากชายแดนหมู่เจ้-รุ่ยลี่ ที่จังหวัดล่าเสี้ยว
จากนั้นทางรถไฟจะวิ่งจากล่าเสี้ยว ผ่านจ๊อกแม หนองเขียว มัณฑะเลย์ มุ่งสู่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยมีปลายทางอยู่ที่ท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นต้นทางของท่อก๊าซและน้ำมัน พม่า-จีน ยาว 770 กิโลเมตร อีกด้วย
มีการวางเป้าหมายไว้ว่าหลินชางจะเป็นเมืองศูนย์กลางของจีนสำหรับเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดีย ผ่านรูปแบบการคมนาคมที่หลากหลาย ทั้งทางเรือ ถนน และรถไฟ โดยมีปลายทางในจีนอยู่ที่เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน
ระยะทางจากท่าเรือน้ำลึกเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ ถึงเมืองเฉิงตูยาว 1,170 กิโลเมตร หากเส้นทางคมนาคมสายนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อสินค้าจากมหาสมุทรอินเดียมาขึ้นฝั่งที่เจ้าก์ผิ่ว จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วัน ไปถึงเฉิงตู ลดเวลาเดินทางของสินค้าลงจากเดิมได้มากถึง 25 วันโดยประมาณ จากนั้นสินค้าจะกระจายจากเฉิงตูออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศจีน
ทางรถไฟจากหลินชางเป็นความคืบหน้าต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม บริษัท Railway No.10 Engineering Group ประสบความสำเร็จในการเจาะอุโมงค์ “ต้าโพหลิ่ง” อุโมงค์รถไฟยาว 14.66 กิโลเมตร ในตำบลหย่งผิง เขตปกครองตนเองชาติพันธุ์ไป๋ ต้าลี่ หลังต้องใช้เวลาเจาะยาวนานถึง 14 ปี เพราะตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหว
อุโมงค์ต้าโพหลิ่งอยู่บนเส้นทางรถไฟสายต้าลี่-รุ่ยลี่ ความยาว 331 กิโลเมตร ในโครงข่ายทางรถไฟฝั่งตะวันตกที่เชื่อมจีนกับพม่า ถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ใช้ความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ประชุมกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า “จีน-พม่า” ที่นครคุนหมิง ได้เร่งรัดเดินหน้าวางรางรถไฟระหว่างเมืองต้าลี่กับหลินชาง หรือเส้นทาง Dalin(Dali-Lincang) ระยะทาง 202 กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศจีน สาขาคุนหมิง กำหนดสร้างทางรถไฟช่วงนี้ให้เสร็จภายในปี 2564 ส่วนช่วงจากหลินชางไปยังรุ่ยลี่อีก 130 กิโลเมตร ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะสร้างเสร็จเมื่อใด
ส่วนทางรถไฟในพม่ามีจุดเริ่มต้นจากเมืองหมู่เจ้ ผ่านแสนหวี ล่าเสี้ยว ไปยังมัณฑะเลย์ โดยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 กระทรวงการขนส่งทางราง พม่า ได้เซ็นบันทึกความเข้าใจกับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group จากจีน ที่กรุงเนปิดอ ให้สร้างทางรถไฟช่วงนี้
ทางรถไฟหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ยาว 431 กิโลเมตร ต้องสร้างสะพานข้ามหุบเหว 77 แห่ง เจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาอีก 77 จุด มีสถานีรับส่งสินค้าและผู้โดยสารรวม 12 แห่ง มีจุดตัดทางรถไฟ 24 จุด เมื่อสร้างเสร็จคาดว่าการเดินทางจากหมู่เจ้ลงไปยังมัณฑะเลย์ จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2562 การรถไฟพม่าพื้นที่ภาคเหนือ ได้จัดประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการทางรถไฟสายหมู่เจ้-มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม ก่อนจะเริ่มลงมือก่อสร้าง การประชุมถูกจัดขึ้นตามเมืองที่เส้นทางรถไฟจะสร้างผ่าน ตั้งแต่หมู่เจ้ แสนหวี ล่าเสี้ยว จ๊อกแม หนองเขียว และมัณฑะเลย์
วันที่ 10 มกราคม 2564 กระทรวงคมนาคมและสื่อสารเมียนมาเพิ่งเซ็น MOU กับบริษัท China Railway Eryuan Engineering Group เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างทางรถไฟต่อจากเมืองมัณฑะเลย์ลงไปถึงเมืองเจ้าก์ผิ่ว รัฐยะไข่ พิธีเซ็น MOU ถูกจัดขึ้นที่สถานทูตจีน ประจำพม่า
ในขณะที่จีนเดินหน้าสานเส้นทางเชื่อมต่อทางบกและทางทะเล ด้านสหรัฐฯเริ่มตระหนักว่าอินโด-แปซิฟิกได้กลายเป็นภูมิภาคทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจที่สำคัญ ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯ จึงพยายามรักษาเสถียรภาพและพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็ต่อต้านอิทธิพลของจีนด้วย
การเดินทางมาเยือนของผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐฯ ตั้งแต่รมว.กลาโหม ลอยด์ ออสติน จีนถึงนางกมลา แฮร์ริสส่งสัญญาณชัดเจนว่า “อเมริกากลับมาแล้ว”ในอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อินโด-แปซิฟิกในสายตาของสหรัฐ
แฮร์ริสยืนยันว่าสหรัฐฯ จะขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ครั้งต่อไปในปี 2566 โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของตลาดที่มีพลวัตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีต่อสหรัฐฯ
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกันเป็นประเทศคู่ค้าส่งออกรายใหญ่อันดับสี่ของสหรัฐฯ โดยความสัมพันธ์ทางการค้าเหล่านี้สนับสนุนการจ้างงานในอเมริกามากกว่า 600,000 ตำแหน่ง
ชาร์ลส์ ดันสท์ (Charls Dunst) ผู้ร่วมงานกับบริษัท Global Macro เครือข่ายของบริษัท Eurasia Group ที่ให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวว่า
“สำหรับสหรัฐอเมริกา อินโด-แปซิฟิกมีค่ามาก เพราะมันกว้างใหญ่และรวมทุกอย่างตั้งแต่อินเดียไปจนถึงนิวซีแลนด์ และสหรัฐฯตั้งใจที่จะท้าทายจีนในทุกพื้นที่เหล่านี้”
ดันสท์ กล่าวเสริมว่าฝ่ายบริหารของ Biden ยึดแนวทางยุทธศาสต์อินโด-แปซิฟิกไม่ใช่เพราะเป็นแนวคิดของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ “อินโด-แปซิฟิก” เป็นยุทธศาสตร์หลัก ที่สหรัฐอเมริกาใช้ต้านอิทธิพลจีนทั้งเศรษฐกิจ การเมือและการทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ไม่เพียงแต่ในเอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่ยังกินขอบเขตไปทั่วโลกอีกด้วย