บิ๊กตู่แถลงเวทียูเอ็น ลั่นรบ.ไทย-เศรษฐกิจพอเพียงกระหึ่ม! โลกยกย่องปรัชญาในหลวงร.9

2704

จากที่วันนี้ 21 กันยายน 2564  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงในกิจกรรม “Sustainable Development Goals (SDG Moment)” ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจยิ่งมีการกล่าวถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยนั้น

ทั้งนี้ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 ผ่านระบบประชุมทางไกล ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยนายกรัฐมนตรี ยินดีที่มีส่วนร่วมในกิจกรรม SDG Moment รัฐบาลไทยร่วมกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อดำเนินนโยบายและใช้งบประมาณให้ตอบโจทย์กับการพัฒนาประเทศ และนำไปสู่การบรรลุ SDGs

ตลอดจนได้นำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติ โดยสมัครใจ (VNR: Voluntary National Review) ต่อสหประชาชาติ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีระบุถึงหมุดหมายที่สำคัญ 3 ประการ เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ดังนี้

ส่งเสริมสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนทุกช่วงอายุ โควิด-19 ได้ตอกย้ำความสำคัญของการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสำหรับการประกันสุขภาพ ยกระดับอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการบริการสาธารณสุขอย่างพอเพียง เร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองในยามวิกฤตได้

สร้าง “ความสมดุลของสรรพสิ่ง” ผ่านการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ต่อยอดอุตสาหกรรมชีวภาพและพลังงานทดแทน และปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตขนาดใหญ่ของโลก ตั้งเป้าที่จะเพิ่มการผลิตรถไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ไทยทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030

ขจัดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาด้าน digital literacy เพื่อปลดล็อคศักยภาพให้แก่ประชาชนในประเทศ ใช้ประโยชน์จากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า หรือ TPMAP ที่เกิดจาก Big Data เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย รวมถึงปัญหาความยากจนอื่น ๆ ต่อไป

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะสำเร็จจากการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของไทยที่จะก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพร้อมร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

อนึ่ง กิจกรรม SDG Moment จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 2563 ในรูปแบบการอภิปรายทั่วไปตามข้อมติของสมัชชาสหประชาชาติที่ต้องการย้ำความสำคัญและสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินการตามเป้าหมาย SDGs ภายในปี ค.ศ.2030 เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการกล่าวถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์แผนการขับเคลื่อน SDGs ของไทย โดยเฉพาะการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นมาตรการฟื้นฟูจากโควิด – 19 ที่สร้างสมดุล

อย่างไรก็ตามทีมข่าวเดอะทรูธ ตรวจสอบไปถึงท่าทีของสหประชาชาติ ต่อการยกย่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของไทย ก็พบว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2559 นายสเตฟาโนส โฟทีโอ ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ กล่าวปาฐกถาในการประชุมวิชาการ “ความท้าทายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเชีย” จัดโดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิมั่นพัฒนา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และกลุ่มบริษัท ช.การช่างเพื่อเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี

 

นายสเตฟาโนส กล่าวช่วงหนึ่งว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีแนวทางที่สอนให้ตระหนักถึงความสุขที่ไม่ได้ผูกพันกับเงินเพียงอย่างเดียว แต่ให้นึกถึงความสามารถและความเหมาะสมในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์และรับผิดชอบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาให้ได้อย่างยั่งยืนพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ

“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะเป็นแนวทางเสริมพลังการพัฒนาที่สำคัญยังมีความสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมของเอเชียเป็นอย่างยิ่ง เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเล็งเห็นคุณค่าของคนและสิ่งแวดล้อม

กลไกของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุกระดับและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน จนถึงระดับชาติ จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยนำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกไปสู่ความสำเร็จได้”