อียูตั้งการ์ด ‘ยางพารารุกป่า’!?ส.ชาวสวนลุยขอรัฐ ปล่อยเช่าที่ดินเปล่ากันถูกบีบ

1154

เวทีการค้าและการส่งออกไม่ได้มีด้านบวกอย่างเดียว ในการเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศไทย มาตรการกีดกันการค้าจากลูกค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐและยุโรปเคลื่อนไหวแย้มมาตรการออกมาแล้วโดยเตือนว่า จะพุ่งเป้าไปในกรณีมีการรุกป่ากระทบสิ่งแวดล้อม ด้าน”ยางพารา”และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งยางรถยนต์ ถุงมือยาง ที่เป็นสินค้าสร้างรายได้สำคัญของประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ถึง 22 ล้านไร่ ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ล่าสุดสหพันธ์สวนยางเคลื่อนไหววอนรัฐบาล ปล่อยเช่า “ที่ดินเปล่า” เพื่อแก้ปมปัญหาบุกรุกป่าปลูกยาง ในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ หวังช่วยป้องกันการกีดกันทางการค้าจากมาตรการสิ่งแวดล้อมอียู แถมยังช่วยลดโลกร้อนหลังงาน COP26  เพราะ“ต้นยาง” ดักจับคาร์บอนดีที่สุด ไทยจะได้อานิสงส์ขายเครดิตคาร์บอน สร้างมูลค่าเพิ่มกว่าหมื่นบาทต่อไร่ ช่วยสร้างเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาทต่อปี

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มอบหมายให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาการปลูกยางพาราในพื้นที่ป่าหรือที่ไม่มีเอกสารสิทธิ

ทั้งนี้เพื่อป้องกันกรณีคู่ค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ที่มุ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และแหล่งที่มาของผลผลิตยางในพื้นที่ถูกกฎหมาย

ที่ผ่านมาได้หาแนวทางให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย หรือ “บัตรสีชมพู” สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งยังเป็นปัญหามานาน ตลอดจนให้หาแนวทางครอบคลุมไปถึงหนังสือของกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุญาตให้เกษตรกรสามารถเข้าทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย

ทางสมาคมสมาพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือเปิดผนึกไปยังนายกรัฐมนตรี โดยเสนอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม ขอให้จัดหาที่ดินเปล่าที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้เกษตรกรเช่า

หรือแก้ไขช่วยให้ชาวสวนยางที่ปลูกยางมานานก่อนที่จะมี พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สามารถประกอบอาชีพได้ และมีแนวทางข้อกฎหมายแก้ปัญหาบุกรุกป่าด้วย ให้พิจารณาจาก พ.ร.บ.ป่าไม้แห่งชาติ พ.ร.บ.วนอุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าชุมชนแห่งชาติ

สมาคมมีความเห็นว่า ในฐานะภาคประชาชนที่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางขณะนี้ได้ปลูกยางไปแล้วในพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30 ล้านไร่ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น พืชยางพาราสามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีที่สุด สามารถเก็บได้ตั้งแต่อายุต้นยาง 1-18 ปี จึงสามารถลดภาวะโลกร้อน (climate change) สอดคล้องกับเป้าหมายที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 และที่สำคัญไทยในฐานะผู้ปลูกยางมากที่สุดในโลก ยังสามารถเป็นศูนย์กลางการขายคาร์บอนเครดิตให้กับชาวสวนยางในเอเชีย

ซึ่งนั่นจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 6 ตันต่อไร่ หากคิดเป็นมูลค่าถึงไร่ละ 10,000 บาท หากทำได้ทั้งหมดจะคิดเป็นมูลค่ารายได้เข้าประเทศสูงถึง 300,000 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ภายใต้คำรับรองขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท.(การยางแห่งประเทศไทย) กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯจัดทำโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา จะนำสวนยางพาราของ กยท.จำนวน 20,000 ไร่ ใน จ.นครศรีธรรมราช ใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่สนใจทั่วไป โดยมีการดำเนินงาน 2 ขั้นตอน คือ ในปี 2565

ทาง กยท.จะขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) และในปี 2566-2567 ดำเนินการขอรับรองคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาด CARBON MARKET

โดยเฉพาะในช่วง 1-5 ปีแรกก่อนเปิดกรีด เกษตรกรชาวสวนยางจะสามารถเพิ่มรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตในช่วงก่อนเปิดกรีดได้ ควบคู่กับการลดใช้ปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ รวมถึงลดการใช้เชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต หรือการขนส่งที่จะส่งผลก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การขยายพื้นที่การดำเนินโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่สวนยางพาราทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสวนยางพาราอยู่ภายใต้การดูแลของ กยท. ประมาณ 22 ล้านไร่ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียว และสังคมคาร์บอนต่ำ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง

“ปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรทั้งในเรื่องของการเพาะปลูก ผลผลิต จนส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร คาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพาราช่วยลดปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และยังสามารถนำไปซื้อขายได้ เป็นการเพิ่มรายได้จากสวนยางอีกทางหนึ่งของเกษตรกร ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้นโยบาย BCG MODEL ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

กระแสกีดกันทางการค้าจากตะวันตกเริ่มเค้าลางชัดขึ้นหลังการประชุมโลกร้อนผ่านมาได้ไม่นาน ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เดินหน้าเก็บภาษี AD/CVD ยางล้อไทยและกดดันมาเลเซียเรื่องการนำเข้ายาง อีกทั้งปล่อยข่าวเรื่องไทยส่งถุงมือยางมือสองทำลายเครดิตผู้ประกอบการไทย ทั้งๆที่ข้อมูลนำมาจากผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องเรื่องทุจริตการค้าถุงมือยางมือสองรายเดียว ต้องจับตากันต่อไปเรื่องภาษีคาร์บอนที่แย้มออกมาตั้งแต่ประชุม G20 ว่าทั้งสหรัฐและอียูจะออกมาตรการอะไร  ยางไทยต้องรีบปรับตัวก่อนที่ มหาอำนาจฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยจะคลอดมาตรการกดดันอะไรเพิ่มอีก!!