รองปธน.สหรัฐฯเยือนสิงคโปร์-เวียดนาม?!?กระชับพันธมิตรต้านจีน เตรียมจัดตั้งCDC สาขาเวียดนาม ส่งสัญญาณรุกคืบธุรกิจยาในภูมิภาค

1240

นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รอบนี้มาเพียงสองประเทศ คือ สิงคโปร์ (ไปถึงเมื่อวาน) และเวียดนาม (วันพุธที่ 24 ส.ค.) เป็นการตอกย้ำนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น และเป็นจังหวะที่วอชิงตันต้องแสดงให้โลกเห็นว่า แม้จะเกิดกรณี “คาบูลแตกและตอลิบันกลับมายึดอำนาจได้ในขณะที่ทหารอเมริกันกำลังถอนตัวออกนั้น สหรัฐฯก็ยังจะดำรงความเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกอยู่ดี” และเอเชียเป็นเป้าหมายหลักของการแสดงบารมีเช่นนี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2564 ว่า นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารประจำตำแหน่ง แอร์ ฟอร์ซ ทู ถึงยังท่าอากาศยานของกองทัพอากาศสิงคโปร์  โดยมี นายวิเวียน บาลากริชนัน รมว.การต่างประเทศของสิงคโปร์ รอให้การต้อนรับ

ด้านแหล่งข่าวในทำเนียบรองประธานาธิบดีสหรัฐให้ข้อมูลว่า แฮร์ริสซึ่งมีเชื้อสายอินเดียจากครอบครัวฝั่งมารดา มีความมุ่งมั่นอย่างมากในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำความเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันยืนยันว่า ภูมิภาคแห่งนี้ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศ มีความสำคัญอย่างมากต่อสหรัฐ ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์ความมั่นคงและเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็น “แบทเทิลกราวด์” ของการช่วงชิงและขยับขยายอิทธิพลทุกด้าน ระหว่างสหรัฐกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลวอชิงตันทุกยุคทุกสมัยในระยะหลัง เน้นวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลปักกิ่งในเรื่องทะเลจีนใต้ หนึ่งในเส้นทางเดินเรือสายสำคัญของโลก ซึ่งหลายประเทศในแถบนี้อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกัน

สำหรับภารกิจสำคัญของรองผู้นำหญิงสหรัฐในสิงคโปร์ รวมถึงการเยี่ยมคารวะและพบหารือ กับประธานาธิบดีฮาลิมา ยาค็อบ และนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง และการเยี่ยมชมฐานทัพเรือชางงี พร้อมทั้งพบกับลูกเรือสหรัฐจากเรือ “ยูเอสเอส ทุลซา” 

หลังจากนั้นในวันอังคารที่ 24 ส.ค. แฮร์ริสจะเดินทางต่อไปยังกรุงฮานอย สร้างประวัติศาสตร์เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐคนแรก ซึ่งเยือนเวียดนามขณะอยู่ในตำแหน่ง และภารกิจสำคัญของเธอที่นี่ รวมถึงการเปิดศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ( ซีดีซี ) สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ก่อนหน้านี้ไบเดนส่งรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน และรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ เวนดี เชอร์แมน มาเอเชียเพื่อตอกย้ำการให้ความสำคัญกับเอเชียแล้ว แต่ทำไมจึงส่งกมลามาเยือนเฉพาะสิงคโปร์และเวียดนาม?    

สาเหตุเพราะสองประเทศนี้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในอันดับสูงกว่าประเทศอาเซียนอื่น เป็นส่วนหนึ่งของการสกัดอิทธิพลจีนผ่านการสร้างพันธมิตรในภูมิภาคนี้ผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก( Indo-Pacific Strategy) ที่ดึงเอาอินเดียมาเป็นแกนสำคัญในย่านนี้ เสริมด้วย Quad หรือ “จตุภาคี” ที่มีสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, อินเดียและญี่ปุ่นที่เป็นเสาหลักอีกด้านของการยับยั้งการสยายปีกของจีน       

อาเซียนเป็นอีกเสาหนึ่งของนโยบายไบเดน ที่ต้องการเข้ามาปักหมุด ขับอิทธิพลจีนว่าจะต้องไม่ขยายบทบาทในภูมิภาคนี้เกินกว่าที่สหรัฐฯ จะเห็นว่าเหมาะสม สิงคโปร์กับเวียดนามเป็นสองประเทศในอาเซียนที่มีความสนิทสนมกับวอชิงตันในหลายๆ มิติ   

Singapore’s Foreign Minister Vivian Balakrishnan, center, greets U.S. Vice President Kamala Harris, right, upon her arrival in Singapore Sunday, Aug. 22, 2021. Harris is on a tour of Southeast Asia, where she will attempt to reassure allies of American resolve following the chaotic end of a two-decade war. (Evelyn Hockstein/Pool Photo via AP)

สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงิน บริษัทยักษ์ๆ ของอเมริกา เช่น Microsoft และ Google มีสำนักงานใหญ่ในเอเชียอยู่ที่นี่ ส่วนเวียดนามถูกมองว่าเป็นส่วนสำคัญของ “ห่วงโซ่อุปทาน” ของภูมิภาคนี้ที่อเมริกาต้องการใช้ในการขยายอิทธิพลของตน        

ทำเนียบขาวบอกว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริสจะปรึกษาหารือกับผู้นำสองประเทศอาเซียนในหัวข้อสำคัญ คือความมั่นคงภูมิภาค, โรคระบาดโควิด, โลกร้อนและทิศทางของสหรัฐฯ ในการจัดระเบียบโลกบนพื้นฐานของการเคารพในกติกาสากลที่สหรัฐเห็นชอบ

เมื่อไปถึงเวียดนามวันพุธ รองปธน.สหรัฐฯจะประชุมออนไลน์กับรัฐมนตรีสาธารณสุขของอาเซียนว่าด้วยเรื่องโควิด อีกทั้งจะประกาศตั้งสำนักงานภูมิภาคของศูนย์บริหารควบคุมโรคที่ฮานอย 

อีกประการหนึ่งทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งสิงคโปร์และเวียดนามเป็นสมาชิกของ CPTPP แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำของการก่อตั้งองค์กรนี้ในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถอนตัวออกโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การมาของรองประธานาธิบดีกมลาจะเปิดทางให้อเมริกาทบทวนเรื่องนี้และหวนกลับมาร่วม CPTPP หรือไม่คงต้องจับตา เพราะแน่นอนจะส่งผลสะเทือนมายังประเทศไทยที่ยังไม่กล้าฟันธงเข้าร่วมเพราะกระแสต้านหนักมาก ประเทศไทยเป็นแหล่งสมุนไพรชั้นเลิศที่มหาอำนาจจ้องตาเป็นมัน ท่ามกลางสงครามเชื้อโรคที่ทำให้บริษัทยาขนาดยักษ์ของอเมริการ่ำรวยพุงปลิ้น???