พีรพันธุ์ฯย้ำใกล้เฉลยใครแกล้งโง่?!? มหากาพย์ทุจริตโฮปเวลล์ บีบไทยจ่าย 24,000 ล้านบาท คนผิดต้องรับโทษ??

1881

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญทุบโต๊ะ “มติศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ต้องจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์นั้นขัดรธน.” และมีวี่แววว่าจะได้รื้อคดีจ่ายค่าเสียหายให้โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน สังคมไทยก็กลับมาตื่นตัวอีกครั้งกับ “อนุสาวรีย์แห่งความอัปยศโฮปเวลล์” หลังศาลรธน.วินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ปมนับอายุความฟ้องคดีนี้เป็นการขัดรธน. เพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย  ทั้งไม่ผ่านประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงใช้บังคับไม่ได้  ทุกสายตาก็จับจ้องมาอีกครั้ง เรื่องนี้โฆษกศาลปกครองขอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อน และว่าจะไม่กระทบคดีพิพากษาเด็ดขาดไปแล้ว  และจะใช้เป็นข้ออ้างรื้อคดีได้หรือไม่ ต้องดูรายละเอียดว่าเข้าเกณฑ์ กม.หรือไม่ และชี้ว่าที่ผ่านมามีมติที่ประชุมใหญ่ศาลปค.เป็นร้อยเรื่อง ไม่เคยประกาศราชกิจจา –และไม่ได้ส่งสภา เนื่องจากมองว่าไม่ใช่ระเบียบ แต่ฝ่ายผู้ตรวจการแผ่นดินเชื่ออีกอย่าง ท่านว่าศาลรธน.วินิจฉัยเป็นข้อมูลใหม่ นำไปสู่การรื้อคดีใหม่ได้ คนไทยเลยมีลุ้นว่ารัฐบาลอาจไม่ต้องจ่าย และไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลุงทุนต่างชาติด้วยเพราะเป็นกระบวนการทางกฎหมาย คู่กรณีมีสิทธิทำได้ ที่สำคัญจะได้รู้ชัดเสียทีว่าเรื่องนี้มีมูลการทุจริตอย่างไร และใครต้องรับผิดชอบถูกลงโทษ?

สำหรับเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้ว่าเรื่องคดีโฮปเวลล์ค้างคามาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนๆ และให้ความเห็นว่า ต้องติดตามในรายละเอียดอีกที จะเอาคำพิพากษาออกมาพิจารณาดูถึงจะดำเนินการอย่างไรต่อไปได้ เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ แต่ต้องเอามาแก้ไขในรัฐบาลนี้ ถ้ามันสามารถแก้ไขได้ก็เป็นการดี เป็นการสงวนเงินงบประมาณแผ่นดิน ทำอะไรก็ตามตนระวังที่สุด  ต้องเริ่มต้นทุกอย่างด้วยความถูกต้อง ขอให้เข้าใจว่างานเหล่านี้เป็นงานที่ค้างคามาถึงรัฐบาลนี้ และตนก็แก้ไขไปในทางที่ถูกที่ควร ตามช่องทางของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมเพราะจะเป็นผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างได้ดีที่สุด

เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27 พ.ย.45 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค.44 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัด หรือแย้งต่อรธน. มาตรา 3 วรรคสอง และ มาตรา 197 วรรคสี่ โดยให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตาม มาตรา 5 และ มาตรา 6 วรรคหนึ่ง

สำหรับมติของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ องค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีนี้มีทั้งสิ้น 7 คน เนื่องจากศาลได้อนุญาตให้นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดถอนตัวจากการพิจารณาตั้งแต่ต้น ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองมาตรา 34 ประกอบมาตรา 32(1) และนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมจึงเลือกนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 18 วรรค 4

มหากาพย์คดีค่าโง่โฮปเวลล์ ยาวนานมาถึง 13 ปี(ไม่นับช่วงเวลาริเริ่มและยกเลิก) เริ่มตั้งแต่ วันที่ 8 พ.ย.2551 อนุญาโตตุลาการ ให้ คมนาคม-รฟท. จ่ายค่าเสียหายแก่ บ.โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด 11,888 ล้านบาท จากนั้น 13 มี.ค.57 ศาลปกครองกลาง เพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ คมนาคม-รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท

วันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุด กลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คมนาคม-รฟท. ต้องจ่ายค่าโฮปเวลล์ พร้อมดอกเบี้ย รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ภายใน 180 วัน และ ต่อมาวันที่ 22 พ.ย.62 รฟท. ยื่นสี่หน่วยงาน เสนอ ครม.งดจ่ายค่าโง่-สู้คดีต่อ

22 ก.ค.2563 ศาลปกครองสูงสุด ไม่รับพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ ตามคำร้องของคมนาคม และรฟท. 17 พ.ย. 63 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นศาลรธน. ตีความมติศาลปกครองสูงสุด ปมมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด นับอายุความ วันตั้งศาลปกครอง ขัดรธน. หรือไม่ และ ล่าสุด 17 มี.ค.64 ศาลรธน. ลงมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่องการนับอายุความนับแต่วันตั้งศาลปกครองขัดรธน

เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุด ขอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มเกี่ยวกับปมอายุความโฮปเวลล์ก่อน

นายประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครองสูงสุด ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ศาลฯขอดูคำวินิจฉัยฉบับเต็มก่อน ว่าประเด็นที่ศาลรธน.วินิจฉัยครอบคลุมไปลึกแค่ไหน ขณะนี้ทราบแต่จากเพียงจากเอกสารข่าวเท่านั้น แต่โดยหลักแล้ว คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้น  มีแนวใหม่หรือมีคำวินิจฉัยใหม่ ก็จะไม่กระทบกับคดีที่พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปก่อน ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองก็จะนำคำวินิจฉัยศาลรธน. มาประกอบการพิจารณา เพราะคำวินิจฉัยศาลรธน. ผูกพันทุกองค์กร

ส่วนจะมีผลต่อการขอพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่ หรือไม่นั้น โฆษกศาลปกครอง กล่าวว่า คดีนี้ เคยมีการขอพิจารณาคดีใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ศาลปค.ชั้นต้น และศาลปค.สูงสุด เห็นตรงกันว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่การขอพิจารณาคดีใหม่ อาจจะขอได้อีกโดยอ้างเหตุใหม่ ฉะนั้น ถ้าคู่กรณียกคำวินิจฉัยศาลรธน. มาขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลก็จะพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ใช้เหตุผลเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ และเป็นข้อเท็จจริงใหม่ ก็จะพิจารณาต่อไปว่า แล้วเข้าเกณฑ์ที่จะรับพิจารณาคดีใหม่ตาม มาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องขอดูคำวินิจฉัยเต็มของศาลรธน. ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร แล้วจึงมาพิจารณาต่อไปว่าเข้าเกณฑ์หรือไม่

แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินเชื่อคำวินิจฉัยศาลรธน.เห็นต่างถือว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่ทำให้รื้อคดีได้!

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หลังจากนี้ ศาลรธน. คงต้องส่งคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์มาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งก็จะแจ้งกลับไปยังกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะนำคำวินิจฉัยซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานข้อมูลใหม่ ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอรื้อฟื้นคดีจ่ายค่าเสียหายโฮปเวลล์ได้ แต่ที่สุดแล้วจะมีผลให้รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายหรือเปล่า เป็นของดุลยพินิจของศาลปกครอง ไม่ขอก้าวล่วง

ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวย้ำว่า “ผมคิดว่าเป็นข้อมูลใหม่ที่อาจทำให้ผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดที่พิพากษาให้รฟท.ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโฮปเวลล์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  เพราะทุกคดีมีอายุความ การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นนี้ ก็อาจทำให้มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดที่เป็นประเด็นพิพาทไม่สามารถนำมาใช้บังคับได้  ซึ่งก็จะมีผลให้การฟ้องคดีของบริษัทโฮปเวลล์น่าจะเป็นฟ้องเมื่อคดีขาดอายุความแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่ศาลปกครองจะพิจารณาวินิจฉัย แต่ก็ถือว่ารัฐบาลมีลุ้นที่อาจจะไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนให้กับบริษัทเอกชน”  และมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลุงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในไทย เพราะเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างก็ใช้สิทธิตามที่กฎหมายเปิดโอกาสไม่ได้ทำอะไรที่นอกเหนือกฎหมายกำหนดไว้

ความน่าลุ้นของเรื่องนี้ยิ่งเพิ่มระดับเข้าไปอีก เมื่อหัวหน้าคณะทำงานที่สู้กับเรื่องคดีโฮปเวลล์นี้มาตลอดออกมาแย้มข่าวดีอีกด้วย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศึกษาปัญหาสัญญาโฮปเวลล์ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิ มนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครอง ตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มีนาคม 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เขากล่าวว่า

“ดีใจมากหลังจากเพียรพยายามต่อสู้ทำงานแบบเงียบๆอย่างไม่ย่อท้อมานาน ตั้งแต่ปี 2562  วันนี้เป็นอีกวันที่ผมรู้สึกดีใจและเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ สำหรับคดีโฮปเวลล์ แต่เรื่องนี้ยังไม่จบนะครับ แม้จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราจะยังต้องเดินหน้าทำงานต่อ รายละเอียดของเรื่องนี้ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังนะครับ”

แหมอันนี้ก็ต้องรอกันอีกนิดว่า จะเปิดข้อเท็จจริงอะไรบ้าง คิดว่าประชาชนก็คงอยากรู้ว่า ใครกันหนอเป็นต้นเหตุ ทำสัญญาอย่างไรให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ทำสำนวนคดีอย่างไรให้ไทยเราที่เป็นเจ้าของบ้านแท้ๆต้องแพ้คดีให้ บริษัทต่างชาติที่เป็นฝ่ายทำงานล้าช้าไร้ประสิทธิภาพ เอ้ารอกันมาตั้ง 13 ปีรออีกนิดจะเป็นไรไป?