หน้าแตกยับ!! อ.ชูชาติ กางกม. ฟาด “เจ๊หน่อย” ยื่นศาลอาญาคดีทุจริต ฟ้องนายกฯ งานนี้วืด เพราะไปผิดศาล!?
จากกรณีเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า โดยระบุว่า จะไปยื่นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในวันที่ 13 ส.ค.64 เวลา 10.30 น.ภายหลังรวบรวมรายชื่อได้ 700,000 รายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้พรรคไทยสร้างไทย ยื่นฟ้องรัฐบาลที่บริหารผิดพลาดบกพร่องในการแก้ไขปัญหาโควิด ซึ่งวานนี้ นายโภคิน พลกุล พร้อมด้วย นายวัฒนา เมืองสุข และผู้เสียหายจากการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ได้ไปประชุมกับ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง
ต่อมาทางด้าน นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่มีบุคคลหลายกลุ่มจะยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี โดยระบุข้อความว่า
กรณีที่มีข่าวว่ามีบุคคลหลายกลุ่มจะฟ้องนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่า ล้มเหลวในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารทางสาธารณสุข เพราะความบกพร่องอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีที่ปล่อยปละละเลยจนเกิดการแพร่ระบาดถึง 4 ระลอก รวมทั้งบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง
ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ๒๕๕๙ มาตรา ๓ วรรคสอง บัญญัติว่า ความใน
วรรคหนึ่งมิให้รวมถึง
(๑) คดีที่อยู่ในอํานาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง
บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐
มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า ศาลมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี ดังต่อไปนี้
(๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า
“ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า
(๑) นายกรัฐมนตรี ฯลฯ
“ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบสําหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือกระทําการอันเป็นความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น
ตามบทบัญญัติของ พรป. ว่าด้ายการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ดังกล่าวสรุปได้ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดำรงแหน่งทางการเมือง การกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย คือการกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
จึงเป็นคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ย่อมอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงน่าจะฟ้องนายกรัฐมนตรีในข้อหาดังกล่าวต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไม่ได้