ทอท.ปลื้ม !?! ธนารักษ์เล็งลดค่าเช่าให้ 50% ทำลดต้นทุนการเงิน ผลประกอบการดีขึ้น คาดเที่ยวบินในประเทศเพิ่มดันอุตฯการบินฟื้น

2056

กรมธนารักษ์ เตรียมเสนอปลัดคลัง ลดค่าเช่าท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งให้ AOT เหลือ 2 พันล้านบาท จากทั้งหมด 3.9 พันล้านบาท คิดเป็น 50% จ่ายภายในปีนี้ ส่วนปีหน้าพิจารณาใหม่อีกครั้ง บริษัทวิจัยหลักทรัพย์ฯ มอง AOT กระแสรายได้แข็งแกร่ง ส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศ และแนวโน้มการเดินทางภายในประเทศบรรยากาศเป็นบวก AOT คาดหากรัฐเปิดเดินทางให้ต่างชาติอย่างจำกัดก็จะเสริมรายได้เพิ่มและฟื้นฟูอุตฯท่องเที่ยวไทยอีกด้วย

รายงานความคืบหน้าการพิจารณาลดค่าเช่าของกรมธนารักษ์ว่า ได้ข้อสรุปแล้ว ในการลดค่าเช่าให้บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ AOTซึ่งประกอบด้วย 6 ท่าได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จากยอดรวมค่าเช่าที่จะต้องชำระทั้งหมดคือ จำนวน 3.9 พันล้านบาท จะลดเหลือประมาณ 2 พันล้านบาท หรือประมาณ 50% นั่นเอง

เนื่องจากผู้เช่าต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ AOT ต้องปรับลดค่าเช่าให้ผู้ประกอบการรายย่อย ภายในท่าอากาศยานต่างๆ ทำให้ส่งผลต่อรายได้โดยตรงของ AOT ทั้งนี้ทางกรมธนารักษ์จะลดให้เฉพาะปี 2563 เท่านั้น และพิจารณาในปีถัดไปตามรายได้ที่เกิดขึ้นจริง หากมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังการระบาดโควิด-19 คลี่คลาย สัดส่วนการปรับลดก็จะน้อยลงตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบกับสำนักเศรษฐกิจการคลัง ในกรณีผลกระทบกับวินัยการเงินการคลัง หากไม่มีปัญหาอะไร ก็จะเสนอต่อ นายประสงค์ พูนธเนศ, ปลัดกระทรวงการคลังเพื่ออนุมัติต่อไป เนื่องจาก AOT เป็นรัฐวิสาหกิจ

โบรกเกอร์มองเป็นผลดีส่งผลแนวโน้มฟื้นฟูเป็นบวก
บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไป (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า AOT ในแง่กระแสรายได้ที่แข็งแกร่ง และส่วนแบ่งตลาดที่สูงที่สุดในประเทศไทยสำหรับธุรกิจเดินทาง ทางอากาศของประเทศไทยในระยะยาว แต่มองว่าผลกระทบจากโรคระบาดหลีกเลี่ยงได้ยากทั้งปีนี้ไปจนถึงปีหน้า (2563-2564)

บริษัท เอเซีย พลัส จำกัด, นายเทอดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยกล่าวว่า กรณีที่กรมธนารักษ์ยกเว้นค่าเช่าให้ AOT ถึง 50% แม้เป็นเฉพาะปีนี้ก็ตาม ย่อมส่งผลดีต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ ซึงจะทำให้ประมาณการผลประกอบการปีนี้จะดีขึ้นอย่างแน่นอน นั่นย่อมหมายถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของบริษัทย่อมดีขึ้นด้วย

สัญญาณดีแต่ประมาทไม่ได้เพราะโควิดยังไม่จบ
เมื่อวันหยุดยาวที่ผ่านมาสถิผู้โดยสารเดินทางในประเทศมีแนวโน้มที่ดีแสดงถึงโอกาสฟื้นของอุตฯการบินของไทยยังมีความหวัง กล่าวคือ ร.ท.สัมพันธ์ ขุทรานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 38,000 คน/วัน โดยเป็นผู้โดยสารภายในประเทศโดยบางวันมีผู้โดยสารสูงสุดถึง 45,000 คน/วัน หากเปรียบเทียบจากปกติก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 จำนวนผู้โดยสารในประเทศอยู่ที่ประมาณ 70,000 คน/วัน โดยหากรวมผู้โดยสารระหว่างประเทศ จะมีเฉลี่ยถึง 120,000 คน/วัน

ทั้งนี้ ทอท.ยืนยันถึงความพร้อมของมาตรการคัดกรองของสนามบิน ในการรองรับการให้บริการ ตามมาตรการที่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น ต้องใส่หน้ากากาอนามัย ต้องมีอุณหภูมิ ไม่เกิน 37.3 องศาเซลเซียส พร้อมกันนี้ได้เปิด Bus Gate ที่ PIER 5 เพิ่ม ทำให้ผู้โดยสารภายในประเทศได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้น

ขณะที่มีโครงการเปลี่ยนสะพานเทียบเครื่องบินเป็นตัวใหม่ทั้งหมด 33 ตัว ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. 2563 ซึ่งจะเพิ่มความสะดวกกับผู้โดยสารและประสิทธิภาพความปลอดภัยในการใช้งานของสะพานเทียบเนื่องจากของเดิมมีสภาพเก่าเพราะใช้งานนานมาก

ร.ท.สัมพันธ์ กล่าวว่า ทอท.มีความพร้อมในการการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น รูปแบบจับคู่เที่ยว (Travel Bubble) โดยได้เตรียมพื้นที่ Bus Gate PIER 6 ที่อาคารผู้โดยสารหลังเก่า เป็นจุดคัดกรองผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการหรือแลปตรวจหาเชื้อ COVID-19 จำนวน 2 เครื่อง โดยมีขีดความสามารถตรวจคัดกรองได้ 200 คน/ 3 ชม. หรือเทียบเท่ากับจำนวนผู้โดยสาร 1เที่ยวบิน ดังนั้นเฉลี่ย1 วัน รับผู้โดยสารได้ประมาณ 800-1,000 คน/วันหรือประมาณ 8 เที่ยวบิน