หลังจากที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ได้ออกมาเคลื่อนไหวชัดเจนว่า จะไม่ขอเข้าร่วมม็อบในวันที่ 7 ส.ค. นี้ และยังกล่าวแสดงความห่วงใย ต่อกลุ่มเยาวชนปลดแอก
ที่ประกาศเป้าหมายเคลื่อนไหววันที่ 7 ส.ค. นี้ ไปยังพื้นที่พระบรมมหาราชวัง ว่า รู้สึกห่วงใยต่อเป้าหมาย ของกลุ่มเยาวชนที่มีกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ดีความห่วงใยของตนนั้น มาจากความรักและความปรารถนาดี ไม่ต้องการก้าวก่ายหรือแทรกแซง หรือชี้นำ
ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของนายณัฐวุฒิ ทำให้เชื่อมโยงไปถึงประเด็นที่ 2 พรรคการเมืองแตกคอกัน ซึ่งเป็นปมบาดแผลมานาน และยิ่งทวีคูณขึ้น หลังจากมีเรื่องการโหวตงบกลางเข้ามา ทำให้ตอนนี้ทั้ง 2 พรรค ต่างแค้นกันเอง
โดยต้นเหตุมาจากมติเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 พ.ศ….. ที่กำลังประชุมกันในช่วงโค้งสุดท้าย มีมติให้ “คืนงบ” ที่แปรญัตติทั้งหมดกว่า 16,000 ล้านบาท ไปไว้ที่ “งบกลาง” กาหมายเหตุว่า ให้รัฐบาลนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 แต่ในจำนวนเสียงข้างมาก มีเสียงของฝ่ายค้าน “พรรคเพื่อไทย” โหวตให้กับฝ่ายรัฐบาลด้วย และพรรคเสียงข้างน้อยในที่ประชุมคือ “พรรคก้าวไกล” ที่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าการนำคืนงบกว่า 1.63 หมื่นล้าน ไปไว้ในงบกลาง
เท่ากับว่า เป็นการ “ตีเช็คเปล่า” ให้รัฐบาลนำเงินไปใช้ โดยไม่รู้ว่าจะนำไปใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 จริงหรือไม่ และมีประสิทธิภาพแค่ไหน โดยทางพรรคก้าวไกล ได้เสนอให้นำงบไปเพิ่มแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ จำนวน 1.32 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้การเก็บภาษีที่ดินที่หายไป ส่วนที่เหลือแปรไปยังสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพ 860.24 ล้านบาท , กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา 631.73 ล้านบาท, กองทุนการออมแห่งชาติ 460 ล้านบาท,
กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 500 ล้านบาท, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 100 ล้านบาท, กองทุนช่วยเหลือเกษตรกร 100 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 509.61 ล้านบาท พร้อมล็อบบี้ทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่มีเสียงมากอย่างพรรคเพื่อไทย แต่กลับได้รับคำตอบจากเพื่อไทยว่าจะคืนให้ “งบกลาง” ที่สุดแล้วในการลงมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม มีมติเสียงข้างมาก 35 ต่อ 7 งดออกเสียง 3 เสียง
ซึ่ง 6 เสียงเป็นของ พรรคก้าวไกล คือมี 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล
2.น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
3.น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ
4.น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.
5.นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ
6.นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนอีก 1 เสียงคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ
จึงทำให้ในเวลาต่อมา พรรคก้าวไกลเปิดฉากสับพรรคเพื่อไทยยับ เนื่องจากไปยกมือโหวตให้เสียงข้างมากรวมกับกรรมาธิการฝ่ายรัฐบาล ทั้งในการแถลงข่าวผ่านสื่อ และ ถกเรื่องนี้ในคลับเฮาส์เป็นเวลาหลายวัน ต่อมาประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาแถลง ถึงสาเหตุที่โหวตงบกลาง โดยมีใจความว่า งบส่วนนี้ควรได้เอาไปช่วยเหลือในสถานการณ์โควิด-19 และยังตอกกลับก้าวไกลไปด้วยว่า “พรรคเพื่อไทยขอเรียนให้พี่น้องประชาชนทราบว่า พรรคมีความอดทนอดกลั้นมาตลอดในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ที่ต้องการรักษาเอกภาพและบรรยากาศทำงานร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านไว้ให้ดีที่สุด ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในกระบวนการทำงานเป็นสิทธิและความเห็นที่พรรคให้เกียรติพรรคร่วมฝ่ายค้านมาโดยตลอด”
ต่อมาก้าวไกล ยังนำเรื่องนี้ไปถกเถียงกันในคลับเฮ้าส์ต่อ จนทำให้ “โจ้ ยุทธพงศ์” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประกาศกลางคลับเฮาส์ว่า จะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ถ้าใครหาหลักฐานได้ว่า งบกลางนี้ไม่ได้เอาไปช่วยเหลือโควิด-19 แต่นำไปซื้อกระสุนยาง แก๊สน้ำตา
และความเกี่ยวเนื่องในเรื่องการเคลื่อนไหวของม็อบ 3 นิ้ว ที่มีทั้งกลุ่มของปลดแอกและราษฎร ที่ผ่านมาเพื่อไทย ออกโรงหนุนม็อบมาโดยตลอด รวมทั้งเรื่องการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญตามการเคลื่อนไหวที่ม็อบเรียกร้อง แต่ขอไม่แตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ขณะที่ฝั่งก้าวไกล ทราบกันดีว่า ส.ส.ในพรรคจำนวนหลายคน จะอาสานำทีมไปประกันตัวแกนนำ และผู้ต้องหาในคดี 112 อยู่เสมอ จนประชาชนต่างพากันวิจารณ์ และยังมีการยื่นให้ตรวจสอบจริยธรรมแล้วด้วย
ดังนั้นการเคลื่อนไหวในวันที่ 7 ส.ค. ของม็อบปลดแอกและก๊วน 3 นิ้ว อาจจะมีความระส่ำระส่าย เพราะ 2 พรรคใหญ่กลับมาแตกคอกันก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวของม็อบ และคล้ายจะมีนัยยะสำคัญ ที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ออกมาประกาศไว้ชัดเจนเลยว่า ม็อบนี้ไม่ขอเข้าร่วม รวมทั้งยังไม่มีนักการเมืองฝ่ายค้านจาก 2 พรรคนี้เคลื่อนไหวอะไรมาก ทั้งที่ทุกครั้งจะออกตัวเห็นด้วยตลอด ทำให้น่าจับตามองว่า ม็อบ 3 นิ้วอาจจะมาสุดทางแล้ว และบรรดาลิ่วล้อนักการเมืองที่เคยหนุนหลัง ก็ไม่ขอเกี่ยวข้อง หากมีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงและเคลื่อนไหวผิดวัตถุประสงค์ ที่นอกเหนือไปจากเรื่องของการประท้วงรัฐบาล